นักกอรีตัวแทนประเทศไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๓ ในการแข่งขันอ่านและท่องจำคัมภีร์อัลกุรอานระหว่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ครั้งที่ ๕๖

นักกอรีตัวแทนประเทศไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๓ ในการแข่งขันอ่านและท่องจำคัมภีร์อัลกุรอานระหว่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ครั้งที่ ๕๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,581 view

รัฐบาลมาเลเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอ่านและท่องจำคัมภีร์อัลกุรอานระหว่างประเทศ ครั้งที่ ๕๖ (The 56th International Al-Quran Reciter’s  Assembly) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ ณ Putra World Trade Centre Kuala Lumpur โดยกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนสมาคมกอรีแห่งประเทศไทย ในอุปถัมภ์จุฬาราชมนตรี นำนักกอรีตัวแทนประเทศไทย จำนวน ๒ คน เดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว

การแข่งขันในปีนี้แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ การอ่านคัมภีร์อัลกุรอานชาย (Qari) การอ่านคัมภีร์อัลกุรอานหญิง (Qariah) การท่องจำคัมภีร์อัลกุรอานชาย (Hafiz) และการท่องจำคัมภีร์อัลกุรอานหญิง (Hafizah) มี ๔๔ ประเทศเข้าร่วม ผลการแข่งขันปรากฏว่า นางสาวกัลยาณี มุมิ อายุ ๒๒ ปี จากประเทศไทย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๓ จากผู้เข้าร่วมแข่งขันในประเภทการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานหญิง ๑๕ คน ได้รับพระราชทานเงินรางวัลจำนวน ๑๕,๐๐๐ ริงกิตมาเลเซียจากสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย โดยมาเลเซียได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันทั้ง ๔ ประเภท

นางสาวเสาวลักษณ์ ชัยชูสอน อุปทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะเพื่อพบปะพูดคุยและให้กำลังใจนักกอรีตัวแทนประเทศไทยก่อนเข้าร่วมการแข่งขัน และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้เข้าร่วมชมการแข่งขันและพิธีปิดการแข่งขันเพื่อแสดงความยินดีแก่นักกอรีตัวแทนประเทศไทยทั้งชายและหญิงที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แสดงศักยภาพของนักกอรีไทยสู่สายตานานาชาติในเวทีการแข่งขันอ่านและท่องจำคัมภีร์อัลกุรอานระหว่างประเทศ     

อนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศได้ให้การสนับสนุนสมาคมกอรีแห่งประเทศไทย ในอุปถัมภ์จุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นองค์กรอย่างเป็นทางการในด้านศาสตร์การอ่านคัมภีร์อัลกุรอานแบบทำนองเสนาะ (กอรี) และการท่องจำคัมภีร์อัลกุรอาน (ฮาฟีซ) ในการคัดเลือก ฝึกอบรม และนำนักกอรีตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม อีกทั้งช่วยสร้างโอกาสให้นักกอรีไทยได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลกมุสลิม เพิ่มพูนประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายกับวงการกอรีสากล นับเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านมุสลิมของไทย และยังช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ของไทยในการให้สิทธิเสรีภาพทางศาสนาที่เท่าเทียมกันตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอีกด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ