ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียนเกี่ยวกับการทบทวนขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียนเกี่ยวกับการทบทวนขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 มิ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,456 view

 

                                                                                                     ที่ ๑๘๘/๒๕๕๗

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียนเกี่ยวกับการทบทวนขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 

เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศปฏิบัติราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับผู้แทนภาคประชาสังคม[*]ในอาเซียนนำโดยนางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน เกี่ยวกับการทบทวนขอบเขตหน้าที่ (Terms of Reference –TOR) ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on  Human Rights – AICHR) รายละเอียดดังนี้

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำความสำคัญของ AICHR ในการเป็นกลไกหลักของอาเซียนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้แสดงบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง AICHR เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่ารัฐบาลไทยที่ผ่านมาทุกชุดมีความจริงใจและตั้งใจจริงในการสนับสนุนการดำเนินงานของ AICHR ตลอดจนกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ของผู้แทนไทยใน AICHR ทั้งอดีตและปัจจุบัน อาทิ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน (The AICHR Advanced Training on Human Rights: Training of the Trainers) เมื่อพฤศจิกายน ๒๕๕๖ และการประชุมเชิงปฏิบัติการในการแบ่งปันแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศอาเซียนเป็นภาคี

ตามขอบเขตหน้าที่ของ AICHR กำหนดให้มีการทบทวนขอบเขตหน้าที่ในปีนี้ เพื่อทำให้AICHR ให้เป็นกลไกสิทธิมนุษยชนที่ทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคได้อย่างสมดุลและดำเนินงานได้จริง โดยผู้แทนจากภาคประชาสังคมในอาเซียนได้เข้าร่วมการประชุมกับ AICHR เพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับการทบทวน TOR ระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ ที่ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ AICHR จะเข้าพบและหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่เมียนมาร์ เกี่ยวกับแนวทางและวิธีการในการทบทวนขอบเขตหน้าที่ของ AICHR          

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและสนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์และใกล้ชิดระหว่างผู้แทนไทยใน AICHR กับภาคประชาสังคม เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการดำเนินงานของผู้แทนไทยใน AICHR โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือระหว่างผู้แทนไทยใน AICHR กับภาคประชาสังคมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอย่างสร้างสรรค์เพื่อทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มการจัดการประชุม Interface Dialogue ระหว่างผู้นำอาเซียนและภาคประชาสังคมในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ผู้นำประเทศอาเซียนโดยตรง ทั้งนี้ ที่ประชุม AICHR อยู่ระหว่างพิจารณาร่างเอกสารแนวความคิด Guidelines on the AICHR’s Relations with Civil Society Organizations ซึ่งเป็นข้อเสนอของ ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนไทยใน AICHR คนแรก

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าสิ่งที่อาเซียนและ AICHR จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และประเด็นข้ามชาติ เช่นเรื่องแรงงานเนื่องจากมีการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนจะมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานและซึ่งจะมีผลกระทบกับสิทธิมนุษยชนของประชาชนอาเซียนด้วย

 

************

                                                                                      ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗



[*] ๑) มูลนิธิศักยภาพชุมชน ๒) มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ๓) Forum – Asia ๔) International Commission of Jurists (ICJ) ๕) Human Rights Working Group 6) ALSEAN Burma  ๖) Tea Group (LGBT movement) ๗) ศูนย์ข้อมูลชุมชน ๘) Asia Pacific Women League for Development (APWLD) ๙) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และ ๑๐) Asylum Access Thailand

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ