พิธีปิดประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ ๖

พิธีปิดประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ ๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มิ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 3,289 view

ที่ ๑๗๓/๒๕๕๗

พิธีปิดประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ ๖

 

                   เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและ นางมาร์กาเรตา วอห์ลสตรอม ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อการลดความเสี่ยงจากเหตุภัยพิบัติ เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ ๖ (The 6th Asian Ministerial Conference on Disaster Risk Reduction- 6th AMCDRR) การประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนรัฐบาลระดับรัฐมนตรี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่รับผิดชอบด้านการจัดการภัยพิบัติจาก ๕๐ ประเทศ (โดยเป็นระดับรัฐมนตรีจาก ๑๘ ประเทศ และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส/อธิบดี  ๒๐ ประเทศ) และหน่วยงานของไทยเข้าร่วมประชุม รวมจำนวนกว่า ๔,๐๐๐ คน

                   การประชุมครั้งนี้เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ (Hyogo Framework for Action 2005 - 2015: HFA) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติทุกระดับในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกทั้งระดับรัฐมนตรีหัวหน้าหน่วยงาน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนและท้องถิ่น ได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานกรอบเฮียวโกะ ถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติ เพื่อกำหนดแนวทางและวิสัยทัศน์ในการรับมือภัยพิบัติที่ครอบคลุมทุกมิติ                

                     ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Bangkok Declaration on Disaster Risk Reduction in Asia and the Pacific 2014) ซึ่งเป็นผลจากการเจรจาหารือร่วมกันของรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งหน่วยงานสหประชาชาติ โดยนายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นประธาน โดยมีสาระสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ชุมชนพร้อมรับและฟื้นกลับเร็วจากภัยพิบัติ ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในการลดความเสี่ยงและเสริมสร้างความต้านทานภัยพิบัติ และผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ นอกจากเหนือจากปฏิญญากรุงเทพฯ แล้ว ที่ประชุมรับรองข้อเสนอเกี่ยวกับ Post-2015 HFA หรือ HFA 2 ของภูมิภาคเอเชียและข้อเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน HFA 2 ของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder groups) ของภูมิภาคเอเชีย

                   ปฏิญญากรุงเทพฯ ได้ตระหนักถึงแบบอย่างของการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางซึ่งเสริมสร้างความต้านทานของชุมชนท้องถิ่นต่อภัยพิบัติ  ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ  (Human Development Lifetime Achievement Award) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ 

                   ผลการหารือในการประชุมครั้งนี้จะได้รับการนำเสนอต่อที่ประชุมระดับโลกเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสมัยที่ ๓ (World Conference on Disaster Risk Reduction: WCDRR) ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นการรับรอง HFA 2 ด้วย

                     

                                                         *********************

                                                                                      ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗

 

โปรดติดตามการ update ข่าวของกระทรวงการต่างประเทศ ตาม Twitter @MFAThai (ไทย) @MFAThai_PR_EN (อังกฤษ) และ @MFAUpdate (สถานการณ์การเมืองภาษาอังกฤษ)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

media-center-20140626-231007-194534.pdf
media-center-20140626-231552-697194.pdf
media-center-20140626-232823-843697.pdf