ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงระหว่างการเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำ CICA ครั้งที่ ๔ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงระหว่างการเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำ CICA ครั้งที่ ๔ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 3,077 view

เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia – CICA) ครั้งที่ ๔ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับผู้นำและผู้แทนประเทศต่างๆ อาทิ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย นายฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน นายฮามิด คาร์ไซ ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายนูรี อัลมาลิกี นายกรัฐมนตรีอิรัก ฯลฯ โดยปลัดกระทรวงฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

๑. ไทยขอบคุณจีนที่ให้การต้อนรับและจัดประชุมได้อย่างยอดเยี่ยม รวมทั้งฝากความหวังไว้ที่จีนพร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าจีนในฐานะประธาน CICA ในวาระต่อไปจะขับเคลื่อน CICA ไปในทิศทางที่จะส่งเสริมความแข็งแกร่งให้ทวีปเอเชียต่อไป ทั้งยังชื่นชมตุรกีในฐานะประธาน CICA และต้อนรับประเทศสมาชิกใหม่ คือ บังกลาเทศและกาตาร์ นอกจากนี้ ยังกล่าวชื่นชมวิสัยทัศน์ของอดีตประธานาธิบดีคาซัคสถานเมื่อ ๒๒ ปีก่อน ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งการประชุม CICA

๒. ทวีปเอเชียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ความท้าทายด้านความมั่นคงก็ยังคงอยู่ ดังนั้น กรอบความร่วมมือที่ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจเช่น CICA จึงมีความสำคัญ ทั้งยังสามารถใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประเทศสมาชิกเพื่อสร้างประชาคมโลกที่มีผลประโยชน์และค่านิยมร่วม รวมไปถึงความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งในการสร้างบรรยากาศดังกล่าว ไทยให้ความสำคัญต่อ การส่งเสริมความมั่นคงรอบด้าน เพราะความเจริญรุ่งเรืองเป็นพื้นฐานของความมั่นคง ดังนั้น จะต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในทุกมิติ โดยไทยพร้อมส่งเสริมการเชื่อมโยงทางบก น้ำและอากาศ รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ ยังสนับสนุนข้อเสนอของจีนเกี่ยวกับ Maritime Silk Road ความมั่นคงมนุษย์ โดยเฉพาะการขจัดภัยคุกคาม ได้แก่ ความยากจน การขาดแคลนอาหาร น้ำ พลังงาน การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย การสร้างสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคให้มีความรับผิดชอบต่อกัน โดยยึดมั่นกับค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาลที่ดี

๓. CICA จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมความร่วมมือกับกรอบความร่วมมือ Asia Cooperation Dialogue (ACD) และ ASEAN ที่ไทยมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด CICA ในปี ๒๕๕๘

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ