วันที่นำเข้าข้อมูล 13 มี.ค. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานหลักในการประสานงานกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) จัดการสัมมนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาในกรอบ WIPO IGC (Intergovernmental Committee) ณ โรงแรม The Sukosol โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการสัมมนา
การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ และเป็นช่องทางที่คณะเจรจาของไทยจะได้รับทราบมุมมองและท่าทีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการกําหนดท่าทีไทยในการเจรจาในกรอบ WIPO IGC ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่ได้ดําเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันแสวงหากลไกระหว่างประเทศที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งระบบหรือเครื่องมือทางทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในปัจจุบันเช่น ในเรื่องสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ยังไม่ครอบคลุมถึง
การประชุม WIPO IGC มีการพิจารณาร่างข้อบท ๓ ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources – GRs) ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge - TK) และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม (Traditional Cultural Expressions – TCEs) โดยได้มีการประชุมมาแล้ว ทั้งหมด ๒๖ ครั้ง อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องการจัดทําแนวทางการคุ้มครองที่เป็นรูปธรรมได้ ทั้งนี้ อุปสรรคที่สําคัญคือ แนวความคิดที่แตกต่างและผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ และ การหาจุดสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้เป็นเจ้าของกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม ๆ
โดยที่การเจรจา WIPO IGC อาจนําไปสู่การจัดทํากลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศ และมีผลผูกพันประเทศสมาชิกในอนาคต ไทยจึงต้องติดตามและมีส่วนร่วมในการประชุมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลไกระหว่างประเทศที่จะมีการพัฒนาขึ้นเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการและผลประโยชน์ของไทย อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาผลประโยชน์ของคนไทยซึ่งเป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม
การเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาดังกล่าวในครั้งนี้ เป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของกระทรวงการต่างประเทศที่จะช่วยผลักดันให้เกิดความตระหนักรู้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ในเรื่องสิทธิของผู้เป็นเจ้าของรวมถึงผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม และเพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างระบบการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม
การประชุม WIPO IGC ครั้งที่ ๒๗ กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔ มีนาคม- ๔ เมษายน ๒๕๕๗ ณ นครเจนีวา และการประชุมสมัชชาใหญ่ WIPO จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน ๒๕๕๗ ซึ่งจะมีการพิจารณาความพร้อมของร่างข้อบททั้งสามด้านในการประชุมทางการทูต (diplomatic conference) ต่อไป
องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเป็นทบวงการชํานัญพิเศษของสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศให้มีความสมดลุระหว่างการตอบแทนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญากับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ ปัจจุบัน WIPO มีสมาชิกทั้งหมด ๑๘๖ ประเทศ โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก WIPO เมื่อปี ๒๕๓๒
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **