วันที่นำเข้าข้อมูล 27 พ.ย. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับรัฐบาลอินเดียและญี่ปุ่น ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Towards the Realization of the ASEAN Connectivity Plus: Moving Forward with ASEAN-India Connectivity” ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยมีนายเลอ เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียน นายประดาป พิบูลสงคราม ผู้แทนไทยในคณะกรรมการประสานงานอาเซียนว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค นายคิมิฮิโระ อิชิคาเนะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำอาเซียน และนายอนิล วาธวา เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวเปิดการประชุม
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโอกาสที่เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและอินเดีย และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค โดยเฉพาะในเส้นทางและระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงไทยและอาเซียนกับอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น ถนนสามฝ่ายไทย-เมียนมาร์-อินเดีย ระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง-อินเดีย (โฮจิมินห์-พนมเปญ-กรุงเทพฯ-ทวาย-เจนไน) และแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) และการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียนและเอเชียใต้ ตลอดจนทิศทางความร่วมมือในอนาคต
การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๑๘๐ คนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการเชื่อมโยงของภาครัฐและเอกชนจากประเทศสมาชิกอาเซียน อินเดียและญี่ปุ่น รวมทั้งเอกอัครราชทูต-ผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ และเอกอัครราชทูตของประเทศคู่เจรจาประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา คณะกรรมการประสานงานอาเซียนว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค ตลอดจนแหล่งทุนและองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB), Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) และ Japan Bank for International Cooperation (JBIC)
ทั้งนี้ ผลสรุปของการประชุมจะนำไปเสนอต่อที่ประชุมและเวทีหารือต่าง ๆ ของอาเซียน เพื่อร่วมกำหนดและดำเนินนโยบายด้านความเชื่อมโยงทั้งในอาเซียนและภูมิภาคข้างเคียงต่อไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **