การประชุมคณะกรรมการเพื่อวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

การประชุมคณะกรรมการเพื่อวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 พ.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,953 view

 

วันนี้ (๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อวิเคราะห์คำพิพากษาและแนวทางการดำเนินการครั้งที่ ๑ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ และผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายเข้าร่วม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้น เพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกรณีกัมพูชาขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ และจัดทำคำอธิบายคำพิพากษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่ประชุมได้รับทราบสาระสำคัญของคำพิพากษาจากเอกอัครราชทูตวีรชัย พลาศรัย และได้มีการหารืออย่างกว้างขวางในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับขอบเขต “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” (vicinity) หรือ “ยอดเขาพระวิหาร” (promontory) ซึ่งศาลฯ อธิบายว่าเป็นไปตามสภาพภูมิศาสตร์ ยกเว้นทางด้านทิศเหนือ ซึ่งศาลฯ กำหนดให้เป็นไปตามเส้นบนแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ที่ทั้งสองประเทศต้องเห็นชอบร่วมกัน ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้กรมแผนที่ทหารศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาหารือในการประชุมครั้งต่อไปร่วมกับความเห็นจากที่ปรึกษากฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ชาวต่างประเทศที่จะมีการพบหารือที่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม ๒๕๕๖

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการภายในของไทย ซึ่งไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาได้ เนื่องจากเป็นประเด็นละเอียดอ่อน และต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ในขณะเดียวกัน ไทยและกัมพูชาได้เคยตกลงกันแล้วว่าจะให้เวลาและเคารพกระบวนการภายในของกันและกัน อีกทั้งศาลฯ ก็ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาสำหรับการเจรจาหารือที่จะมีขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศไทยจะสูญเสียดินแดนหรือไม่ และประเทศไทยจะยอมรับคำพิพากษาของศาลฯ หรือไม่นั้น โดยที่ศาลฯ ได้ตัดสินให้ ทั้งสองประเทศไปเจรจาหาข้อยุติกัน ดังนั้น ภายหลังการดำเนินการตามกระบวนการภายในแล้วเสร็จ ทั้งสองประเทศ ก็จะเริ่มเจรจาหารือกันได้ ซึ่งผลของการเจรจาดังกล่าว จะเป็นเครื่องกำหนดว่าประเทศไทยจะเสียดินแดนหรือไม่อย่างไร และยังไม่ควรสรุปอะไรในชั้นนี้

ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับคำแปลคำพิพากษาเป็นภาษาไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศได้แปลร่างแรกเสร็จแล้ว ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการแปลเอกสารในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ ซึ่งมีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นประธาน และมีผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ราชบัณฑิตยสถาน สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการดังกล่าวได้ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ และจะประชุมอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ เพื่อจัดทำคำแปลฉบับทางการให้แล้วเสร็จ เพื่อเผยแพร่ต่อส่วนราชการต่าง ๆ และประชาชนได้รับทราบในโอกาสแรกต่อไป

 

**************************************

 

๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ