ไทยเสนอแนะแนวทางพัฒนาระบอบพหุภาคีและหุ้นส่วนระดับโลกแบบใหม่

ไทยเสนอแนะแนวทางพัฒนาระบอบพหุภาคีและหุ้นส่วนระดับโลกแบบใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,381 view

เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ สมัยที่ ๖๘ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

นายสุรพงษ์ฯ ตั้งคำถามว่าระบอบพหุภาคีประสบผลตามความคาดหวังจริงหรือ โดยยกตัวอย่างความล้มเหลวของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะดำเนินการอย่างทันท่วงทีเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ ในซีเรีย แม้ว่าสมาชิกสหประชาชาติจะได้กล่าวประณามและแสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายสุรพงษ์ฯ หวังว่า ข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างยั่งยืนในซีเรีย

นายสุรพงษ์ฯ เสนอว่า เอกภาพและฉันทามติเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบพหุภาคี ดังนั้น การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ทางตันและการบรรลุฉันทามติ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหัวใจของวาระเพื่อการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ของสหประชาชาติ ซึ่งควรตอบสนองความต้องการของประเทศที่อ่อนแอ ซึ่งรวมถึงประเทศที่มีความขัดแย้ง ประเทศที่เพิ่งหลุดพ้นจากความขัดแย้ง ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ

นายสุรพงษ์ฯ ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งท้าทายที่สุดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเรียกร้องให้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อจัดตั้งระบบที่จะลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง อาทิ เทคโนโลยีพยากรณ์อากาศที่แม่นยำยิ่งขึ้น โรงเก็บผลิตผลทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และสายพันธุ์พืชอาหารหลักที่ทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

นายสุรพงษ์ฯ เรียกร้องให้สหประชาชาติให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์อาทิ ด้านการศึกษาและสาธารณสุข รวมทั้งแสดงความพร้อมของไทยในการแลกเปลี่ยนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เกี่ยวกับรูปแบบของการให้บริการทางสาธารณสุขแบบครอบคลุม หรือ โครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้อ่อนแอ

นายสุรพงษ์ฯ ให้ความเห็นว่าประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องพัฒนาหุ้นส่วนระดับโลกแบบใหม่ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างเอกภาพและบรรลุฉันทามติ หุ้นส่วนดังกล่าวต้องอยู่บนพื้นฐานของวาระร่วมและเปิดโอกาสให้รัฐ องค์กรระดับภูมิภาค ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมด้วย

นายสุรพงษ์ฯ ได้ย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้มีส่วนได้เสียเพื่อสร้างหุ้นส่วนระดับโลกที่เป็นหนึ่งเดียวกันและเน้นการดำเนินการมากยิ่งขึ้น แนวคิดนี้เป็นพื้นฐานของการสมัครรับเลือกตั้งของไทยในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสำหรับวาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๑๘

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปิดท้ายว่า หนทางข้างหน้าของสหประชาชาติไม่ควรเป็นไปตามแรงผลักดันทางการเมืองเช่นที่ผ่านมา แต่ต้องอาศัยการหารืออย่างสร้างสรรค์และการเคารพซึ่งกันและกัน และเมื่อประชาคมระหว่างประเทศมีความต้องการและจุดประสงค์ร่วมกันแล้ว ก็จะสามารถเผชิญส่งท้าทายได้