รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินหน้าขอเสียงสนับสนุนไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งในคณะมนตรีความมั่นคงและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินหน้าขอเสียงสนับสนุนไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งในคณะมนตรีความมั่นคงและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 2,518 view

เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖ ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ ๖๘ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากนานาประเทศ เพื่อขอรับการสนับสนุนไทยในการเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๑๘ และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นสมัยที่สอง วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๑๗

ในการหารือกับนายคุนโตโร มังกุโบรโต หัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (Presidential Deliverty Unit) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความสนใจของไทยที่จะเข้าร่วมในความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐบาลเปิด (Open Government Partnership) ซึ่งเป็นเวทีที่อินโดนีเซียริเริ่มเพื่อส่งเสริมความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำคำเชิญของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร สำหรับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เพื่อเข้าร่วมเวทีเสวนากรุงเทพฯ ว่าด้วยกฏหมาย ความยุติธรรมและความมั่นคง ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖

ระหว่างการหารือกับนายดิทเมียร์ บูชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแอลเบเนีย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่กรุงติรานาเมื่อปีที่แล้วจะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางและการติดต่อทางธุรกิจระหว่างไทยกับแอลเบเนีย รวมทั้งได้ขอบคุณแอลเบเนียสำหรับการสนับสนุนการลงสมัครรับเลือกตั้งของไทยในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๑๘ โดยไทยจะสนับสนุนแอลเบเนียในการลงสมัครรับเลือกตั้ง วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๑๗ นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขอรับการสนับสนุนสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งของไทยในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน ภายหลังการหารือ รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างไทยกับแอลเบเนีย สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ

ในการหารือกับเชค อับดุลลาห์ บิน ซายิด อัล นาห์ยาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศยูเออีเดินทางเยือนไทยเพื่อร่วมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-ยูเออี ครั้งที่ ๑ นอกจากนี้ ได้เชิญชวนให้ยูเออีเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้ฝ่ายยูเออีพิจารณาเร่งรัดการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างไทยกับยูเออี สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ รวมทั้งได้ขอเสียงสนับสนุนไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งในคณะมนตรีความมั่นคงและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

หลังจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนางมาเรีย อังเคลา โอลกิน กูเอยาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโคลอมเบีย โดยได้แสดงความขอบคุณที่ประธานาธิบดีโคลอมเบียได้เชิญนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เดินทางเยือนโคลอมเบียอย่างเป็นทางการ และเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การแลกเปลี่ยนคณะนักธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายติดต่อระหว่างภาคเอกชน เพื่อที่จะได้เล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับโคลอมเบียในการเสริมสร้างศักยภาพของสตรีและการส่งเสริมการท่องเที่ยว และได้เชิญผู้แทนจากโคลอมเบียเข้าร่วมกล่าวปาฐกถาในเวทีเสวนากรุงเทพฯ ว่าด้วยกฏหมาย ความยุติธรรม และความมั่นคง ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ และขอเสียงสนับสนุนจากโคลอมเบียในการลงสมัครรับเลือกตั้งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๑๗ ภายหลังการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับโคลอมเบีย

ในการหารือกับนายอาลี อาห์เหม็ด คาร์ที รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซูดาน รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความพึงพอใจต่อความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทยกับซูดาน ตลอด ๓๑ ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน นอกจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำความพร้อมของไทยที่จะขยายความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านความริเริ่มไทย-แอฟริกา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญซูดานเข้าร่วมการหารือระดับสูงของความริเริ่มไทย-แอฟริกาที่ประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ และขอเสียงสนับสนุนจากซูดานในการเลือกตั้งในคณะมนตรีความมั่นคงและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

ในการพบหารือกับนายนิโคลา โพโพสกี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาซิโดเนีย รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้เพิ่มการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนั้น ได้แสดงความสนใจของไทยในการขยายการค้ากับมาซิโดเนีย รวมทั้งได้แจ้งฝ่ายมาซิโดเนียว่า ฝ่ายไทยกำลังพิจารณาร่างความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน และหวังว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนได้โดยเร็ว รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ขอความสนับสนุนจากมาซิโดเนียในการลงสมัครรับเลือกตั้งของไทยในคณะมนตรีความมั่นคงและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ