รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ก.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,270 view

เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอื่นๆ และนายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐอเมริกาอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ ๖๘ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงความชื่นชมต่อความพยายามของสหรัฐฯ เกี่ยวกับซีเรีย และหวังว่าข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเรื่องนี้จะช่วยสร้างแรงผลักดันซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองสำหรับวิกฤตการณ์ในซีเรีย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ นำมาสู่ผลประโยชน์ร่วมกันและมีความเกี่ยวโยงกัน เนื่องจากบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญต่อสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งในภูมิภาค ตนชื่นชมข้อริเริ่มในการขยายปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ซึ่งช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งกิจกรรมภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งช่วยปรับปรุงการศึกษา ความเชื่อมโยง สิ่งแวดล้อม และการเกษตร ความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวจะสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียนและความพยายามเพื่อการพัฒนาในอาเซียน
นายสุรพงษ์ฯ ย้ำว่า หุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ จำเป็นต้องตอบสนองต่อความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตนสนับสนุนยุทธศาสตร์พลังงานสีเขียวของประธานาธิบดีโอบามา และเห็นว่าอาเซียนสามารถเรียนรู้และได้ประโยชน์จากแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและความเชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ในการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพของพลังงานและพลังงานที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม นอกจากนี้ ความชำนาญ และความรู้ทางเทคนิคของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำจะช่วยให้ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขอให้สหรัฐฯ ช่วยพัฒนาศักยภาพของภูมิภาคในเรื่องกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านความร่วมมือและการฝึกอบรม รวมทั้งการจัดตั้งเครือข่ายสถาบันการศึกษาการบังคับใช้กฎหมาย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ตนชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความพยายามของนานาประเทศในการต่อต้านการก่อการร้ายและเห็นว่า ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ในเรื่องความมั่นคงทางคอมพิวเตอร์จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันของภูมิภาคต่อภัยคุกคามทางอินเตอร์เน็ต ตนอยากเห็นความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ในการสร้างศักยภาพ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และการบูรณาการฐานข้อมูลอาชญากรรมข้ามชาติ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยสนับสนุนปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ กับอาเซียน และกับประเทศมหาอำนาจอื่นในภูมิภาค และหวังว่าสหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการสร้างพลวัตรเชิงบวกและบรรยากาศที่เอื้อต่อการบรรลุแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้โดยเร็ว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ