รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์พิเศษ เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการอิเล็คโทรนิควีซ่า (E-Visa)

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์พิเศษ เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการอิเล็คโทรนิควีซ่า (E-Visa)

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 4,214 view

เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๖ นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการอิเล็คโทรนิควีซ่า (E-Visa) ณ กระทรวงการต่างประเทศ สรุปได้ดังนี้

ระบบการตรวจลงตราในปัจจุบันยังใช้เอกสารเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการ E-Visa ที่กำลังดำเนินการอยู่ในส่วนของระบบ Visa Data Centre ซึ่งรวบรวมข้อมูลการตรวจลงตราของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ รวมทั้งรายชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีบุคคลต้องห้าม ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ อาทิ ศาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาตรวจลงตรา และเมื่อมีการตรวจลงตราแล้ว ระบบจะเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนหมายเลขและรายละเอียดของการตรวจลงตราของแต่ละคนในแต่ละวันและเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ข้างต้น ระบบ Visa Data Centre คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่าร้อยล้านบาท โดยจะเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม ปี ๒๕๕๗ ส่วนระบบอื่นๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จ  ในปี ๒๕๕๘

เป้าหมายสูงสุดของโครงการคือการตรวจลงตราออนไลน์ที่มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ ขณะเดียวกันก็ลดปัญหาการโจรกรรมแผ่นปะตรวจลงตรา (วีซ่าสติ๊กเกอร์) โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบกับฐานข้อมูล ทั้งนี้ รองปลัดกระทรวงฯ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีฐานข้อมูลสำรองในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ระบบปฏิบัติการหรือฐานข้อมูลหลัก ส่วนการชำระเงินค่าตรวจลงตรานั้น รองปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่าในอนาคตจะปรับเป็นการชำระผ่านการโอนเงินหรือโดยบัตรเครดิตต่อไป

สำหรับแนวทางการใช้งาน E-Visa จะอิงกับการแบ่งกลุ่มบุคคลขอตรวจลงตราเข้าประเทศไทย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้

๑. บุคคลจากประเทศที่ไม่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะประเภทนักท่องเที่ยว สามารถกรอกข้อมูลขอตรวจลงตราได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงฯ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ได้ โดยบุคคลในกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ เพราะเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยระบบจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลว่าได้รับการอนุมัติการตรวจลงตราแล้วหรือไม่

๒. บุคคลจากประเทศที่มีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สำหรับบุคคลในกลุ่มนี้อาจต้องใช้ทั้งการกรอกข้อมูลทางเว็บไซต์ และรับการตรวจลงตราโดยใช้แผ่นวีซ่าสติ๊กเกอร์ควบคู่กัน

๓. บุคคลจากประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคง จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่เพื่อทำการถ่ายรูป กรอกประวัติ ตรวจสอบลายนิ้วมือเพื่อเก็บเข้าฐานข้อมูลและทำการตรวจสอบกับหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องก่อนจะทำการตรวจลงตราให้ โดยบุคคลในกลุ่มนี้จะใช้ทั้งระบบ E-Visa และวีซ่าสติ๊กเกอร์ร่วมกัน

รองปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่าในปัจจุบันประเทศที่ใช้ระบบ E-Visa มีหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เขตปกครองพิเศษฮ่องกง สิงคโปร์ และศรีลังกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ E-Visa ควบคู่กับแผ่นปะตรวจลงตราที่เป็นสติ๊กเกอร์ และในหลายประเทศเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ยกเลิกตรายางประทับบนหนังสือเดินทางแล้วเพื่อป้องกันการปลอมแปลงตราประทับ โดยเป็นการใช้แถบรหัส QR Code แทน เพื่อรองรับระบบ E-Visa โดยเจ้าหน้าที่สามารถใช้เครื่องมือในการตรวจสอบแถบรหัสดังกล่าวกับฐานข้อมูลได้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ