วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ส.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รวมทั้งผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) เข้าร่วม
ที่ประชุมได้รับทราบว่าในรายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกปรับลดระดับลงเป็น Tier 3 มาเป็นเวลา ๒ ปีติดต่อกันแล้ว ซึ่งตามกฎหมายของสหรัฐฯ จะส่งผลให้ไทยไม่สามารถได้รับการยกเว้นอีกต่อไปในปี ๒๕๕๗ ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ไทยจะต้องดำเนินการด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม มิฉะนั้น อาจถูกปรับลดระดับไปอยู่ใน Tier 3 นอกจากนี้ รายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาซึ่งประเมินสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในประเทศไทยทุกปี ระบุว่าสินค้าไทย ๕ รายการผลิตจากแรงงานเด็กและ/หรือแรงงานบังคับ คือ กุ้ง เสื้อผ้า อ้อย สื่อลามก และปลา ซึ่งอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสินค้าไทยและการตัดสินใจของผู้บริโภคในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย
นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับในประเทศไทยยังคงถูกจับตา โดยประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรป (EU) รวมทั้งเป็นประเด็นที่มีการหยิบยกในกรอบองค์การระหว่างประเทศ ทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศและผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติก็ได้ติดตามประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
ที่ประชุมยังได้หารือและอภิปรายประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง อาทิ การหลอกลวงโดยนายหน้าจัดหางาน ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ข้อห่วงกังวลขององค์การระหว่างประเทศต่อสิทธิของผู้ใช้แรงงานต่างด้าว ปัญหาแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงและการตรวจสอบเรือประมง
รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะประกอบด้วยหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงอย่างบูรณาการ และให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการอีกหนึ่งคณะเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังได้สั่งการให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดให้คณะทูตจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ไปเยี่ยมชมศูนย์ช่วยเหลือสังคม (One Stop Crisis Center – OSCC) ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **