เสวนา Ambassador's Talks โอกาสการค้าและการลงทุนไทยในตะวันออกกลาง

เสวนา Ambassador's Talks โอกาสการค้าและการลงทุนไทยในตะวันออกกลาง

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ส.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,970 view

เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดการเสวนา “Ambassador’s Talks: โอกาสการค้าและการลงทุนไทยในตะวันออกกลาง” ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น ๔ โรงแรมแกรนด์มิลเลนเนียม สุขุมวิท กรุงเทพฯ โดยได้เชิญเอกอัครราชทูตไทย อุปทูต และกงสุลใหญ่ ประจำประเทศอ่าวอาหรับ ๖ ประเทศ (GCC) เป็นวิทยากร ประกอบด้วย นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ นายสุรศักดิ์ เจือสุคนธ์ทิพย์ เอกอัครราชทูต ณ คูเวต รัฐคูเวต นายวิชัย วราศิริกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน   นายพรชัย ด่านวิวัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมาน นายวิจักขณ์ ชิตรัตน์ อุปทูต ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และนายทศพร มูลศาสตรสาทร กงสุลใหญ่
ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีนายชัยรัตน์ ถมยา เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดการเสวนา ว่ากระทรวงฯมีหน้าที่จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนไทยแสวงหาตลาดการค้าใหม่ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีฯ โดยมีภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นเป้าหมายสำคัญ นอกจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้เน้นย้ำการอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับกฎระเบียบการค้าต่าง ๆ ในการนี้ กระทรวงฯ ได้เปิดบริการเว็บไซต์ ThaiBiz.net ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพตลาดและกฎระเบียบที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจทำการค้าการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาในครั้งนี้ว่า กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับเป็นประเทศร่ำรวย มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย และต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทย รวมทั้งสนใจประเทศไทยในฐานะประตูไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกอาเซียน ดังนั้น การเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศในกลุ่มดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการทำการค้าการลงทุนในอนาคต

คณะวิทยากรได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประเทศอ่าวอาหรับ โดยเฉพาะโอกาสในการทำการค้า การลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนไทย กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับแม้จะร่ำรวยจากทรัพยากรน้ำมัน แต่ขาดแคลนทรัพยากรด้านการเกษตร ความมั่นคงทางด้านอาหารจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ภาคเอกชนสามารถเข้าไปทำการค้า การลงทุนได้ โดยหลายประเทศในกลุ่มฯ ต้องการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค เช่น บาห์เรน
และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งได้ส่งเสริมมาตรการจูงใจลดภาษีและลดการกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่มฯ ส่วนใหญ่จะมีทัศนคติที่ดีต่อไทย ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ สินค้าไทย และแรงงานไทย อย่างไรก็ตาม คณะวิทยากรกล่าวว่า นโยบายกำหนดสัดส่วนแรงงานท้องถิ่นในธุรกิจต่าง ๆ ในหลายประเทศและการต้องมีคู่ค้าในท้องถิ่น (sponsor) ร่วมทุนในเกือบทุกประเทศ เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดสำคัญในการทำการค้าการลงทุนของภาคเอกชนไทยในภูมิภาคนี้ เนื่องจากภาคเอกชนไทยจำเป็นต้องแสวงหาคู่ค้าที่ไว้ใจได้และต้องใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัว ในการนี้ นายจักร บุญ-หลง เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รัฐอิสราเอล และนายพิริยะ เข็มพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ได้ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศทั้งสอง รวมทั้งประเทศใกล้เคียง

นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายมิ่งพันธ์ ฉายาวิจิตรศิลป์ ประธานร่วมคณะกรรมการเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้กล่าวปิดการเสวนา โดยชี้ว่า กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับไม่ใช่ตลาดใหม่ แต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และกำลังมุ่งความสนใจมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ในฐานะตัวแทนของภาคเอกชน จึงเห็นว่า กิจกรรของกระทรวงฯ เป็นต้นแบบในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จึงได้สนับสนุนกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวและแนะนำว่า สมาคมธุรกิจต่าง ๆ ก็สามารถเป็นช่องทางที่ภาคเอกชนสามารถใช้เป็นช่องทางติดต่อได้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ