วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน ไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit Foreign Ministers’ Meeting) ครั้งที่ ๓ ที่บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม โดยได้แลกเปลี่ยนมุมมองของไทยต่อประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศย้ำประเด็นที่ประเทศผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกควรให้ความสำคัญ ดังนี้
ในขณะที่ภูมิเศรษฐกิจในเอเชียดูเหมือนจะเป็นเชิงบวกมากยิ่งขึ้น พัฒนาการของความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ ทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองในภูมิภาคมีความซับซ้อนและไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ประเทศผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกจึงจำเป็นต้องช่วยสร้างความสมดุลและจัดการกับแนวโน้มดังกล่าว
ประเทศผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกควรร่วมมือกันพัฒนาความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อในทุกรูปแบบ ทั้งทางรถยนต์ ทางรถไฟ ทางเครื่องบิน และทางเรือ เพื่อเชื่อมโยงเมืองหลวง เมืองหลัก รวมทั้งพื้นที่ในเมืองและชนบท ซึ่งจะช่วยกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดช่องว่างของการพัฒนาในภูมิภาค ปลัดกระทรวงการต่างประเทศย้ำเจตนารมณ์ของไทยที่จะมีบทบาทอย่างแข็งขันในการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากศักยภาพที่มีอยู่และสร้างความเจริญเติบโตทั่วทั้งเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการระดมทุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน รวมทั้งแสดงความชื่นชมต่อข้อเสนอของจีนในการจัดตั้งกลไกทางการเงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และข้อริเริ่มของออสเตรเลียในการจัดตั้งเวทีหารือด้านความเชื่อมโยงในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเน้นด้วยว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องดำเนินควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฏระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามแดนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไทยจึงจะร่วมกับนิวซีแลนด์จัดการประชุมโต๊ะกลมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ที่กรุงเทพฯ โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้ปฏิญญาการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน
ประเทศผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกควรเตรียมพร้อมรับมือต่อผลกระทบทางลบของความเชื่อมโยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนให้ประเทศเหล่านี้สร้างความตระหนักรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวกรอง พัฒนาศักยภาพ รวมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ ยังได้ยืนยันความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคในเรื่องดังกล่าว
ประเทศผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกจำเป็นต้องมุ่งไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนโดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเชื่อว่า ปัญหาสาธารณสุขเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการพัฒนา ไทยจึงหวังที่จะร่วมมือพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้นและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาที่ราคาไม่แพงจนเกินไป ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมและก้าวไปสู่ความเป็นเมืองมากยิ่งขึ้น ความมั่นคงทางอาหารและพลังงานก็เป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญและเร่งด่วน ทั้งนี้ ไทยพร้อมจะร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก การอนุรักษ์พลังงาน และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ประเทศผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า เอเชียตะวันออกมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ไทยจึงเรียกร้องให้ประเทศผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกขยายความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินและการจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาคและมีความแม่นยำ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบเตือนภัยล่วงหน้า
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศแนะนำว่า การดำเนินงานในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกควรเสริมกับการดำเนินงานในกรอบอื่นๆ ที่นำโดยอาเซียน เช่น อาเซียน+๑ อาเซียน+๓ และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) เพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **