รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำประเด็นสำคัญของอาเซียนกับคู่เจรจา และเข้าร่วมพิธีลงนามในภาคยานุวัติสารของนอร์เวย์เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำประเด็นสำคัญของอาเซียนกับคู่เจรจา และเข้าร่วมพิธีลงนามในภาคยานุวัติสารของนอร์เวย์เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ก.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,548 view

เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา ที่บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม และร่วมลงนามในภาคยานุวัติสารของนอร์เวย์เพื่อเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-แคนาดา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงความหวังว่าแคนาดาจะแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญกับอาเซียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง   ของมนุษย์ เช่น สาธารณสุข การจัดการภัยพิบัติ และความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งได้แสดงความชื่นชมต่อการมีส่วนร่วมของแคนาดาในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมร่วมด้านการบรรเทาภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และความมั่นคงของการเดินเรือ นอกจากนี้ อาเซียนสามารถเรียนรู้จากแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของแคนาดาในด้านการจัดการการข้ามพรมแดน เพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ไทยเสนอให้แคนาดาพิจารณามอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนอาเซียน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการศึกษากับสถาบันการศึกษา ในอาเซียน และให้โอกาสนักศึกษาจากอาเซียนเข้าฝึกงานในบริษัทของแคนาดา ในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ไทยสนับสนุนให้อาเซียนร่วมมือกับแคนาดาพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดและการแปลงขยะให้เป็นพลังงานชีวภาพ นอกจากนี้ ได้เชิญชวนให้แคนาดาร่วมมือกับอาเซียนพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศ โดยเฉพาะการเสริมสร้างศักยภาพและการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยีระหว่างหน่วยงานในประเทศสมาชิกอาเซียนกับหน่วยงานในแคนาดาที่รับผิดชอบด้านไฟป่า

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐอเมริกา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ใน ๓ สาขา ได้แก่ ๑) การสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการลดช่องว่างของการพัฒนาในอาเซียนโดยพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาพยายามแสวงหาวิธีระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค โดยออกพันธบัตรหรือริเริ่มรูปแบบการระดมทุนแบบอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นโอกาสในการลงทุนของภาคธุรกิจสหรัฐฯ ๒) การลดผลกระทบเชิงลบจากความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์และอาชญากรรมที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยได้ย้ำความมุ่งมั่นของอาเซียนที่จะขยายความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านการค้ามนุษย์และการปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ ๓) การเตรียมความพร้อมและจัดการภัยพิบัติเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาอาเซียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในภูมิภาคสามารถร่วมมือกับหน่วยงานเฝ้าระวังด้านภูมิอากาศของสหรัฐฯ ทั้งในด้านการเฝ้าระวัง การวิจัยร่วม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีขยายความร่วมมือด้านการเพิ่มความเชื่อมโยงในภูมิภาคการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการค้าระหว่างกันที่ ๑.๕ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๕๘ นอกจากนี้ หวังว่าศูนย์อาเซียน-เกาหลีจะมีบทบาทในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-นิวซีแลนด์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้อาเซียนและนิวซีแลนด์ต่อยอดความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการค้าที่เสรีมากยิ่งขึ้นโดยเร่งรัดการเจรจาเพื่อให้บรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค รวมทั้งย้ำว่าความเชื่อมโยงมิได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและความใกล้ชิดของประชาชนในภูมิภาค นอกจากนี้ ได้แสดงความชื่นชมที่นิวซีแลนด์สนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการลดอุปสรรคทางการค้า ลดต้นทุน และขยายการค้าการลงทุนในภูมิภาค ไทยเรียกร้องให้นิวซีแลนด์ให้ความสำคัญกับโครงการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อเพิ่มความมั่นใจในมาตรฐานทางการศึกษาและวิชาชีพในอาเซียน รวมทั้งให้นิวซีแลนด์แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนโยบายนวัตกรรมเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน และให้ความช่วยเหลืออาเซียนยกระดับมาตรฐานของการผลิตอาหารเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยพืชและสัตว์ และหวังด้วยว่า นิวซีแลนด์จะแบ่งปันความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการต่อสู้ไฟไหม้ป่า

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรป รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนให้สหภาพยุโรปมีบทบาทที่แข็งขันมากขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคง ทั้งในกรอบอาเซียน-สหภาพยุโรปและในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) โดยเฉพาะการลดความขัดแย้งในภูมิภาคการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคง การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ การบริหารจัดการบริเวณพรมแดน และการจัดการภัยพิบัติ ไทยแสดงความชื่นชมที่สหภาพยุโรปสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง และเสนอให้สหภาพยุโรปกระชับความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพของอาเซียน ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานอุตสาหกรรม และความเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมทั้งหวังว่าสหภาพยุโรปจะเพิ่มพูนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาเซียนเผชิญร่วมกัน เช่น สาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน และการจัดการน้ำ นอกจากนี้ ขอให้สหภาพยุโรปพิจารณาร่วมมือกับอาเซียนพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาคและมีความแม่นยำ ไทยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปด้านการส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลของอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการเสริมสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

หลังเสร็จสิ้นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมลงนามในภาคยานุวัติสารของนอร์เวย์ เพื่อเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประเทศที่ ๓๒

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ