วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มิ.ย. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ ๕ (Joint Commission for Bilateral Cooperation - JCBC) ณ กรุงมะนิลา ระหว่างการเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. การค้าและการลงทุน ไทยและฟิลิปปินส์แสดงความยินดีที่มูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้น ๕ เท่าในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา จาก ๑.๖ พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ๒๕๕๐ เป็น ๗.๕ พันล้านสหรัฐในปี ๒๕๕๕ และมุ่งมั่นประสงค์ที่จะเพิ่มมูลค้า การลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น และลดข้อกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่ไม่ใช่ภาษี (non-tarioff barriers) อาทิ มาตรการสุขอนามัยต่อสินค้าการเกษตร และเนื้อสัตว์ การทุ่มตลาด และมาตรฐานทางเทคนิค นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบการจัดประชุมคณะกรรมาธิการการค้าร่วม (Joint Trade Committee- JTC) ในเดือนกันยายน ๒๕๕๖ นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และแสวงหาลู่ทางส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นเวทีหารือในเชิงเทคนิคเกี่ยวกับประเด็นการค้า การลงทุน
๒. การศึกษาและวัฒนธรรม ไทยย้ำความสำคัญของโครงการเชิญครูฟิลิปปินส์มาสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษแก่คนไทยแล้ว ยังเสริมสร้างทักษะด้านภาษาให้กับแรงงานด้วย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของทั้งสองประเทศ จะลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนครูในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักเรียน บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งมุ่งเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา
๓. ความมั่นคง ไทยยินดีจะมอบอะไหล่เครื่องบิน OV-10 ในลักษณะให้เปล่าแก่ฟิลิปปินส์ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ฟิลิปปินส์จะจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย – ฟิลิปปินส์ด้านความร่วมมือทางทหาร (Joint Committee on Defense Cooperation หรือ JCDC) ในปี ๒๕๕๗
๔. ด้านแรงงาน ไทยประสงค์ที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการบริหารจัดการและการให้คุ้มครองแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ
๕. การบริหารจัดการด้านภัยพิบัติ ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยเฉพาะภัยน้ำท่วม โดยเสนอให้มีการศึกษาร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขและจัดการภัยพิบัติ
๖. สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ไทยแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งบดบังพัฒนาการในความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – จีน อย่างไรก็ดี ไทยและฟิลิปปินส์รับทราบถึงท่าทียืดหยุ่นและอะลุ่มอล่วยมากขึ้นของจีนในการนำไปสู่การจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conducts- COC) ซึ่งเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ต่อจีนและต่อความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ภายใต้กรอบอาเซียน-จีน
๗. รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองฝ่ายลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ฉบับแก้ไข) และเป็นสักขีพยานการลงนามแถลงการร่วมการจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงาน และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาธุรกิจไทย - ฟิลิปปินส์ กับสภาธุรกิจฟิลิปปินส์ – ไทย
ในเช้าวันเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้วางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ ดร. โฮเซ ริซาล ผู้นำในการต่อสู้เพื่อเอกราชของฟิลิปปินส์จากสเปนในช่วงปี ค.ศ. ๑๘๙๖- ๑๘๙๘
อนึ่งในช่วงเย็นของวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ คณะผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมผู้บริหารภาคธุรกิจที่ประกอบธุรกิจในฟิลิปปินส์กว่า ๒๐ คน เข้าพบรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ ทำเนียบเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงมะนิลา เพื่อรายงานผลการประชุมสภาธุรกิจร่วมไทย - ฟิลิปปินส์ กับสภาธุรกิจฟิลิปปินส์ – ไทย รวมทั้งหารือถึงลู่ทาง การส่งเสริมและพัฒนาการค้า การลงทุนของภาคธุรกิจไทยในฟิลิปปินส์ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยืนยันความพร้อมของภาครัฐในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนในการประกอบธุรกิจ การลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการเจรจาแก้ไขประเด็นที่คั่งค้างด้านการค้า การลงทุนด้วย
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **