วันที่นำเข้าข้อมูล 11 มิ.ย. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างไทยกับกัมพูชา ครั้งที่ ๑ ร่วมกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา โดยมีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งของไทยและกัมพูชาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย
การประชุมครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมย์ของนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศในการกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย - กัมพูชา ให้เป็นพื้นที่แห่งความสงบสุข มิตรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด สร้างสรรค์ และยั่งยืน โดยที่ประชุมได้เห็นพ้องในประเด็นความร่วมมือสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
(๑) การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งในเบื้องต้น จะพิจารณาจัดตั้งใน ๒ พื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงและเป็นช่องทางคมนาคมที่สำคัญได้แก่ (๑) จังหวัดสระแก้ว - จังหวัดบันเตียเมียนเจย และ (๒) จังหวัดตราด - จังหวัดเกาะกง
(๒) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยง ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญลำดับต้นต่อการปรับปรุงเส้นทางถนนหมายเลข ๕ หมายเลข ๖ และหมายเลข ๔๘ และการพัฒนาเส้นทางรถไฟช่วงเชื่อมต่อชายแดนไทย - กัมพูชา (อรัญประเทศ - ปอยเปต)
(๓) การยกระดับจุดผ่านแดน ที่ประชุมเห็นพ้องในหลักการให้เร่งยกระดับจุดผ่อนปรน ๓ จุด คือ ช่องอานม้า จังหวัดอุบลราชธานี กับอานเซะหรือบ้านสะเตียลกวาง จังหวัดพระวิหาร บ้านเขาดิน จังหวัดสระแก้ว กับพนมได จังหวัดพระตะบอง บ้านท่าเส้น จังหวัดตราด กับบ้านทมอดา จังหวัดโพธิสัต และเห็นพ้องให้เปิดจุดผ่อนปรนทางการค้า ๑ จุด คือ ช่องสายตะกู จังหวัดบุรีรัมย์ กับบ้านจุ๊บโกกี จังหวัดอุดรมีชัย
(๔) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นการให้การศึกษาทั้งในด้านวิชาการและทางวิชาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ชายแดน และดำเนินโครงการพัฒนาชุมชน รวมทั้งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
(๕) การสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการส่งเสริมการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ รวมทั้งขจัดหรือลดข้อจำกัดต่าง ๆ ทางการค้า
นอกจากนี้ ประธานร่วมของทั้งสองฝ่ายยังได้หารือกันและลงนามความร่วมมือในการส่งเสริมการทำการเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ประกอบการทางการเกษตรเกิดความมั่นใจในการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
การประชุมในวันนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างสองประเทศที่สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการพัฒนาร่ววมกันประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ต่อไป
* * * * *
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **