วันที่นำเข้าข้อมูล 31 พ.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 เวลา 17.45 น. นายมันโมฮัน สิงห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับจากนั้น นายมันโมฮัน สิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านนายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ เมืองพุทธคยา เป็นพันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ จึงถือเป็นพันธุ์ไม้แทนพระพุทธองค์ และเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธ การทูลเกล้าฯ ถวายหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ ครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนการทูลเกล้าฯ ถวายของขวัญพิเศษในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันดีของไทย-อินเดีย ซึ่งมีมายาวนาน และถือเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมร่วมกันของทั้งสองประเทศด้วย
นายกรัฐมนตรีและนายมันโมฮัน สิงห์ มีการหารือข้อราชการ ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ซึ่งผู้นำทั้งสองมีการหารือในประเด็นครอบคลุมการพัฒนาความสัมพันธ์ ผ่านการเชื่อมโยงในมิติต่างๆ และการขยายความร่วมมือในสาขาต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนทั้งสอง ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม รวมทั้ง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นภูมิภาคและพหุภาคี โดยนาย ธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือ ดังนี้
ด้านความสัมพันธ์ ไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานมานับหลายศตวรรษบนพื้นฐานความผูกพันธ์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และศาสนา ในช่วงที่ผ่านมาความร่วมมือต่างๆขยายกว้างขวาง บนพื้นฐานค่านิยมร่วมประชาธิปไตย และประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ ไทยและอินเดียยังมีศักยภาพอีกมากที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเชื่อมโยง นโยบาย “มองตะวันตก”ของไทย และนโยบาย “มองตะวันออก” ของอินเดีย มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้มุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน
ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองยินดีต่อการขยายตัวในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานของทั้งสองประเทศ โดยอินเดียเชิญชวนภาคเอกชนไทยให้เข้าไปลงทุนในอินเดีย ในด้านการคมนาคม การแปรรูปอาหาร และพลังงาน นอกจากนี้ ทั้งสองยังย้ำเจตนารมย์ที่จะให้การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดียสำเร็จโดยเร็ว เพื่อช่วยผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ สำหรับการเจรจาความตกลงอาเซียน-อินเดีย ว่าด้วยการค้าบริการ และความตกลงด้านการลงทุน ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีต่อความสำเร็จของการเจรจา และหวังว่าจะมีการลงนามในอนาคตอันใกล้นี้
การส่งเสริมความเชื่อมโยง ไทยและอินเดียต่างเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยหารือถึงโครงการถนนสามฝ่ายระหว่าง ไทย พม่า และอินเดีย ซึ่งจะถนนสำคัญเชื่อมโยงระหว่างอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับอินเดีย เพื่อให้เส้นทางดังกล่าวกระตุ้นการค้า การลงทุน การบริการ และการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ไทยได้เชิญอินเดียให้มาร่วมสนับสนุนโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งจะเชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาลให้กับภูมิภาค
ความร่วมมือทางวัฒนธรรม ไทยและอินเดียพร้อมสนับสนุนสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน รวมทั้ง การส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา โดยจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักเรียนและนักศึกษาของไทยและอินเดีย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่าสำหรับนักเรียนและนักศึกษา โดยไทยขอบคุณที่อินเดียจะยังคงให้ทุนกว่า 100 ทุนแก่นักศึกษาไทยในแต่ละปี และยินดีที่จะมีการติดต่อระหว่างมหาวิทยาลัยต่อมหาวิทยาลัยโดยตรง
ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนา เพื่อขยายความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญต่อความต่อเนื่องของความร่วมมือ โดยไทยเสนอให้ภาคเอกชนอินเดียลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ในไทย รวมทั้ง การเสริมสร้างขีดความสามารถและโครงการร่วมด้านอวกาศประยุกต์
ความร่วมมือด้านความมั่นคง ทั้งสองเห็นพ้องในการส่งเสริมความร่วมมือเรื่องความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือและการป้องกันชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้ง การส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางทหาร การให้ทุนการศึกษา และการฝึกอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ทั้งสองยินดีต่อการลงนามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามเเดน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานทางกฎหมายที่สำคัญสำหรับความร่วมมือทวิภาคีในการจัดการกับผู้ที่มีความเป็นภัยต่อสองประเทศ
ความร่วมมือในกรอบภูมิภาคและพหุภาคี ไทยและอินเดียจะร่วมส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือทั้งในกรอบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียน-อินเดีย และ BIMSTEC ( กรอบความริเริ่มแห่งอ่าว เบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ) รวมทั้ง สนับสนุนความสัมพันธ์ในภูมิภาค นอกจากนี้ สองฝ่ายต่างยินดีกับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นเวทีระดับภูมิภาค ที่เปิดกว้าง เท่าเทียม โปร่งใส และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีทั้งสองร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง 7 ฉบับ ดังนี้
1. MOU on the Establishment of the Thailand-India Exchange Programme
2. Extradition Treaty
3. Proces-Verbal of Exchange of Instrument of Ratification ( Treaty of Transfer of Sentences Persons)
4. MOU between Thammasat University and ICCR
5. -6. MOUs on Cooperation in the Field of Mapping and Geospatial Technology Application
7.MOU on C-operation in the Exchange of Financial Intelligence Related to Money Laundering
จากนั้น นายกรัฐมนตรีทั้งสองร่วมแถลงข่าวถึงผลการหารือ ที่เกิดประโยชน์ต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยและอินเดีย ทั้งในมิติความสัมพันธ์ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา และภูมิภาค
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **