วันที่นำเข้าข้อมูล 10 พ.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ระหว่างวันที่ ๒ - ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้แทนไทยไปร่วมการประชุม ASEAN - U.S. Dialogue ครั้งที่ ๒๖ ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศสมาชิกอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียน และสหรัฐฯ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและหารือร่วมกันในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน โดยหัวข้อที่สำคัญในการหารือ ได้แก่ ความมั่นคงทางทะเล อาชญากรรมข้ามชาติ ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ความร่วมมือ ASEAN - U.S. Expanded Economic Engagement (E3) Initiative พลังงาน การศึกษา หลักนิติธรรม และพัฒนาการในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งที่ประชุมฯ เกี่ยวกับบทบาทที่แข็งขันของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - จีน และการผลักดันให้ประเทศที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้รักษาพลวัตของการเจรจาหารือและทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การจัดทำ Code of Conduct โดยเร็ว พร้อมตอกย้ำถึงความเป็นปึกแผ่นและการมีท่าทีร่วมกันของอาเซียนในการแก้ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างสันติวิธี และเรียกร้องให้อาเซียนและสหรัฐฯ ทำงานร่วมกันเพื่อกระชับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติและลดขั้นตอนของการลำเลียงความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ
ด้านการเมืองและความมั่นคง ที่ประชุมฯ ได้แสดงความชื่นชมชมเชยไทยในการเป็นเจ้าภาพร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีจัดการฝึกซ้อมการบรรเทาภัยพิบัติ ประจำปี ๒๕๕๖ ภายใต้กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum Disaster Relief Exercise (ARF-DiRex ๒๐๑๓) ระหว่างวันที่ ๗ – ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในการนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นพ้องกันถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากรอบทางกฎหมายระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการลำเลียงและรับความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ และเห็นชอบที่จะหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอของสหรัฐฯ ในการจัดทำความตกลง Rapid Disaster Response (RDR) Agreement ในส่วนเรื่องความมั่นคงระดับภูมิภาค ที่ประชุมฯ รับทราบเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านอาวุธนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี และความจำเป็นที่จะต้องรักษาพลวัตของการเจรจาหารือกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี รวมทั้งทำงานร่วมกันเกี่ยวกับข้อผูกพันต่าง ๆ ภายใต้สนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นภายใต้สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้ยืนยันพันธกรณีที่จะกระชับความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงด้านความปลอดภัยของการใช้คอมพิวเตอร์และการป้องกันการโจมตีขอมูลผ่านระบบออนไลน์ (Cyber Security) และอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (Cyber Crime)
ด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมฯ ได้แสดงความยินดีต่อความพยายามของสหรัฐฯ ในการยกระดับมาตรฐานการค้าการลงทุนของอาเซียน และเห็นชอบที่จะกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสู่การจัดทำข้อริเริ่ม E3 (Expanded Economic Engagement) ซึ่งจะช่วยปูพื้นฐานไปสู่การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่า TPP และความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) จะช่วยส่งเสริมการจัดทำการค้าเสรีระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือกันเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเห็นชอบที่จะกระชับความร่วมมือด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและทำงานร่วมกันด้าน U.S. -Asia Pacific Comprehensive Energy Partnership พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบถึงบทบาทที่สำคัญ ของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ต่อการส่งเสริมพลังงานทดแทน และเห็นชอบที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การ/สถาบันการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดอีกด้วย
ด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมฯ รับทราบเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การปรับสมดุลของสหรัฐฯ ที่มุ่งจะกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับเอเชีย พร้อมทั้งชื่นชมบทบาทของสหรัฐฯ ต่อการสนับสนุนแผนงานด้านการศึกษา ๕ ปี ของอาเซียน (ASEAN 5 -Year Work Plan on Education 2011 - 2015) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านโครงการ Fulbright และการจัดทำเอกสารคู่มือหลักสูตรอาเซียน (ASEAN Curriculum Sourcebook) นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ย้ำเกี่ยวกับความพยายามของอาเซียนต่อการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration: AHRD) และเห็นพ้องร่วมกันที่จะกระชับความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ อนึ่ง ที่ประชุมฯ ได้ยกย่องบทบาทอันสำคัญยิ่งของสหรัฐฯ ต่อการพัฒนาศักยภาพของอาเซียนผ่านกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Sub-region Initiative: LMI) ซึ่งจะช่วยต่อยอดความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (ASEAN Integration Work Plan) โดยอาเซียนหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการสร้างความเชื่อมโยงกันในภูมิภาค
ทั้งนี้ นับตั้งแต่กรอบความร่วมมือ ASEAN - U.S. Dialogue ได้ถือกำเนิดเมื่อ ๓๖ ปีก่อน กลไกดังกล่าวได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและยาวนานระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ และเป็นเวทีที่เจ้าหน้าที่อาวุโสจากอาเซียนและสหรัฐฯ จะหารือร่วมกันเกี่ยวกับการกระชับความเป็นหุ้นส่วนด้านความร่วมมือระหว่างกัน โดยในปีนี้ นาย Joseph Y. Yun, Acting Assistant Secretary กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และนาย U Aung Lynn อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมฯ ร่วมกัน
ที่ประชุมฯ ยังได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการเตรียมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Post Ministerial Conference: PMC) กับสหรัฐฯ และการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐ ฯ ครั้งปฐมฤกษ์ ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นปลายปีนี้ และเห็นชอบที่จะจัดการประชุม ASEAN - U.S. Dialogue ครั้งที่ ๒๗ ที่สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ในปี ๒๕๕๗ ต่อไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **