วันที่นำเข้าข้อมูล 7 พ.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าพบและหารือข้อราชการกับนาย John Kerry รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ในวันที่ ๕ – ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ โดยหัวข้อการหารือครอบคลุมความสัมพันธ์ทวิภาคี การส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างกัน พัฒนาการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเด็นระหว่างประเทศ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. ด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ในวาระที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ครบรอบ ๑๘๐ ปี ทั้งสองแสดงความมั่นใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันจะพัฒนาสู่ระดับที่สูงขึ้นต่อไป โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ เน้นถึงเสถียรภาพทางการเมือง พลวัตรทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายคมนาคมขนส่งของไทยเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ซึ่งเป็นโอกาสดีของนักลงทุนสหรัฐฯ ที่จะเข้ามีส่วนร่วม นอกจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นและบทบาทที่แข็งขันของไทยในหลายประเด็น เช่น การเข้าร่วมใน Trans – Pacific Partnership (TPP) ซึ่งไทยอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการภายใน การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะโครงการศูนย์ช่วยเหลือสังคม (One-Stop Crisis Centre) เพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยแสดงความหวังว่า สหรัฐฯ จะตระหนักถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังของหน่วยงานไทยในช่วงที่ผ่านมา และพิจารณาปรับระดับของไทยใน TIP Report ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเยือนสหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายในปีนี้ด้วย
๒. ด้านความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาค รองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวสนับสนุนและชื่นชมนโยบายปรับความสมดุลทางยุทธศาสตร์ (Strategic Rebalancing) ของสหรัฐฯ รวมทั้งประสงค์จะเห็นสหรัฐฯ มีบทบาทที่เกื้อหนุนต่อความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาค ส่งเสริมด้านการพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยไทยต้องการเห็นความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ยกระดับเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ โจรสลัดและภัยพิบัติ นอกจากนี้ ไทยยินดีที่สหรัฐฯ แสดงท่าทีสนับสนุนพัฒนาการของเมียนมาร์ และหวังว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกข้อจำกัดหรือการคว่ำบาตรต่อเมียนมาร์อย่างสิ้นเชิง ไทยเห็นโอกาสที่จะดำเนินความร่วมมือไตรภาคีในการสนับสนุนการลงทุนในเมียนมาร์ ในประเด็นเรื่องอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าอาเซียนเป็นกลไกหลักในการที่สหรัฐฯ จะมีปฏิสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯ สนับสนุนความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN centrality) ในการผลักดันให้เกิดพัฒนาการรวมกลุ่มในภูมิภาค ทั้งในกรอบ EAS ARF และ ASEAN Defence Ministers Meeting โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อผู้ประสบภัย
ในเรื่องทะเลจีนใต้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้แจ้งฝ่ายสหรัฐฯ ว่าในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ไทยมุ่งมั่นที่จะแสวงหาแนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การจัดทำแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct - COC) ในเรื่องความมั่นคงและการลดอาวุธ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำถึงการมีส่วนรวมของไทยอย่างแข็งขันต่อข้อริเริ่มของโลกเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์ (Global Initiative to Combat Terrorism) รวมทั้งการเข้าร่วม Proliferation Security Initiative (PSI) ของไทย ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการฯ จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมทางการเมืองระดับสูง (High Level Political Meeting) ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี PSI ที่กรุงวอร์ซอ ในเดือนพฤษภาคมนี้
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ของสถานีตำรวจนครบาลสหรัฐฯ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปและชมการสาธิตระบบบูรณาการข้อมูลซึ่งใช้ระบบการตรวจจับที่แม่นยำ การอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์ ระบบตรวจจับกระสุนปืน ซึ่งสามารถตรวจจับเสียงปืนและเชื่อมต่อสัญญาณไปยังระบบ CCTV ทั้งหมดของตำรวจเพื่อหาผู้กระทำผิด
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **