(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ) คำแถลงข่าวร่วมระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายปีเตอร์ โอนีล นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ) คำแถลงข่าวร่วมระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายปีเตอร์ โอนีล นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มี.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,142 view

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

 

คำแถลงข่าวร่วมระหว่าง
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายปีเตอร์ โอนีล นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี

๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๓

 

๑. นายปีเตอร์ โอนีล นายกรัฐมนตรีรัฐเอกราชแห่งปาปัวนิวกินี ได้ให้การต้อนรับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ในโอกาสเยือนปาปัวนิวกินี ในวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๓ ซึ่งเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำไทย โอกาสนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ไทย-ปาปัวนิวกินี และเป็นการเริ่มศักราชใหม่ในการขยายความร่วมมือและกระชับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ

๒. นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรแสดงความยินดีที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายไมเคิล โอกิโอ ผู้สำเร็จราชการแห่งปาปัวนิวกินี ซึ่งผู้สำเร็จราชการฯ ได้แสดงความชื่นชมต่อพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย ผ่านโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ และในโอกาสเดียวกันนี้ ผู้สำเร็จราชการฯ และนายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินีได้ถวายพระพรชัยมงคลมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยด้วย

การพัฒนาทางการเมือง

๓. ผู้นำทั้งสองย้ำความสำคัญของการตอบสนองต่อเสียงของประชาชน ในฐานะผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีทั้งสองต่างได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

การกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี

๔. ผู้นำทั้งสองเน้นย้ำถึงความร่วมมือและพันธกรณีร่วมในด้านต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากการหารือทวิภาคี โดยทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสำคัญต่อการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีไทย-ปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นกลไกแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน ครอบคลุมประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ ความร่วมมือทางวิชาการ รวมถึงความท้าทายระหว่างประเทศ

๕. ผู้นำทั้งสองเห็นชอบให้การหารือทวิภาคีไทย-ปาปัวนิวกินีเป็นระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ ซึ่งฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพการหารือ ฯ ครั้งแรก ทั้งนี้ หัวข้อของการหารือจะรวมไปถึงความร่วมมือทางวิชาการของไทยเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจไทย – ปาปัวนิวกินี

๖. นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินีแจ้งให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรทราบถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของภาครัฐ โดยนายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินีขอให้ฝ่ายไทยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การพัฒนารัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับฝ่ายปาปัวนิวกินี  

การค้าและการลงทุน

๗. ผู้นำทั้งสองตระหนักถึงศักยภาพในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินีได้แสดงความยินดีที่มีภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในปาปัวนิวกินี และยินดีต้อนรับภาคเอกชนไทยในการแสวงหาลู่ทางและโอกาสทางธุรกิจในปาปัวนิวกินี โดยเฉพาะในสาขาพลังงาน ผลิตภัณฑ์เกษตร ประมง การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ การจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งปาปัวนิวกินีจะทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป ทั้งนี้ ผู้นำทั้งสองประสงค์ให้การเจรจาความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนบรรลุผลโดยเร็ว

ความร่วมมือทางวิชาการ

๘. ในด้านความร่วมมือทางวิชาการ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมของประเทศไทยที่จะถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในสาขาการพัฒนาที่ปาปัวนิวกินีให้ความสำคัญในลำดับต้น อาทิ สาธารณสุข เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรรม ประมง การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการท่องเที่ยว โดยในโอกาสดังกล่าว นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินีได้แสดงความขอบคุณที่รัฐบาลไทยได้มอบชุดทดสอบเบื้องต้นสำหรับใช้ทดสอบอาหารและชันสูตรโรค ให้แก่ฝ่ายปาปัวนิวกินีระหว่างการเยือนครั้งนี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้แสดงความยินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการไทย-ปาปัวนิวกินี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนากระชับความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป

การศึกษา

๙. นายกรัฐมนตรีทั้งสองต่างเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยการจัดตั้ง “มุมประเทศไทย” (Thai Corner) ที่มหาวิทยาลัยแห่งปาปัวนิวกินีจะช่วยสร้างเสริมความสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง

ความร่วมมือในระดับภูมิภาค

๑๐. ผู้นำทั้งสองย้ำความตั้งใจที่จะสนับสนุนความร่วมมือในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก และกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก นอกจากนี้ โดยที่ประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์จากความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน โดยไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ปาปัวนิวกินีเป็นประตูสู่ภูมิภาคแปซิฟิกใต้ได้

๑๑. นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินียังได้แจ้งประเด็นต่าง ๆ ที่กลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกให้ความสนใจ อาทิ การฟอกเงิน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ และแจ้งความพยายามของรัฐบาลปาปัวนิวกินีในการจัดการกับปัญหาข้างต้น โดยรัฐบาลปาปัวนิวกินีได้ขอรับการสนับสนุนจากไทยในประเด็นดังกล่าว

ประเด็นระหว่างประเทศ

๑๒. นายกรัฐมนตรีทั้งสองให้คำมั่นที่จะกระชับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะการขจัดความยากจน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการภัยพิบัติ ความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ ความร่วมมือใต้-ใต้ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ในฐานะกุญแจสำคัญอันจะนำไปสู่การแก้ไขประเด็นท้าทายระหว่างประเทศต่าง ๆ ต่อไป

บทสรุป

๑๓. นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี เห็นพร้อมร่วมกันที่จะคงการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างไทยและปาปัวนิวกินี เพื่อดำรงไว้ซึ่งมิตรภาพและการขยายความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป

๑๔. นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินีได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้เชิญเยือนประเทศไทย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ