ไทยและสิงคโปร์พร้อมร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในอาเซียน

ไทยและสิงคโปร์พร้อมร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในอาเซียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ม.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 61,280 view

เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนางฉั่ว ซิว ซาน (Chua Siew San) เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ซึ่งเข้าเยี่ยมคารวะ โดยในโอกาสดังกล่าว สองฝ่ายได้หารือถึงภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์ โดยเฉพาะการเตรียมการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างวันที่ ๒๓-๒๔ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ซึ่งถือเป็นการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมเปิดการประชุมโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ ๑๑ (11th Civil Service Exchange Program – CSEP) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือประจำปีระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ที่สิงคโปร์

สำหรับภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์ นั้น สองฝ่ายต่างพอใจความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมีพัฒนาการที่ดีและต่อเนื่องระหว่างกันในทุกมิติและทุกระดับ ไทยและสิงคโปร์ต่างมีประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี (best practices) ที่แต่ละฝ่ายมีความชำนาญ/ประสบผลสำเร็จ และพร้อมแลกเปลี่ยนกัน อาทิ หลักธรรมาภิบาล (rule of law) หลักจริยธรรม (ethics) ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ

ในระดับภูมิภาคนั้น ไทยและสิงคโปร์ต่างมีมุมมองทางยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน คือ ต่างให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน และเรื่องความเป็นแกนกลาง (centrality) ของอาเซียนในการเสริมสร้างความมั่นคงภายในภูมิภาค

อนึ่ง สำหรับการประชุม CSEP ที่จะมีขึ้นถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะได้เสนอให้มีการเน้นเรื่อง (๑) การส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ในสาขาที่จะเสริมกันและกันได้ (๒) การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางด้านการศึกษาระหว่างกัน (ซึ่งปัจจุบัน ไทยและสิงคโปร์มีโครงการโรงเรียนคู่แฝด (twin schools) ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า ๕ ปี มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของนักเรียนของสองโรงเรียนและการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ) และ (๓) ความร่วมมือในประเด็นภูมิภาคที่สำคัญ ๆ และการส่งเสริมความเข้มแข็งภายในอาเซียนเพื่อรับมือกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ของโลก 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ