สาธารณรัฐรวันดา

สาธารณรัฐรวันดา

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,246 view

สาธารณรัฐรวันดา
Republic of Rwanda

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง รวันดาเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ทิศเหนือติดกับยูกันดา ทิศใต้ติดกับบุรุนดี ทิศตะวันตกติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซาอีร์) ทิศตะวันออกติดกับแทนซาเนีย

พื้นที่ 26,338 ตร.กม. (เล็กกว่าไทยประมาณ 19 เท่า)

เมืองหลวง กรุงคิกาลี (Kigali)

ประชากร 10.9  ล้านคน  (2554)

ภูมิอากาศ อากาศอบอุ่นประมาณ 21 องศาเซลเซียสในเขตเมืองหลวง เขตภูเขาไฟทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือจะมีฝนตกหนักและอุณหภูมิต่ำ อากาศจะอุ่นกว่าและแห้งกว่าในตอนกลางของที่ราบสูง ปริมาณน้ำฝนต่อปีอยู่ที่ระดับ 1,140 มิลลิเมตร ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม และ ตุลาคม - ธันวาคม

ภาษาราชการ ฝรั่งเศส อังกฤษ Kinyarwanda Bantu และ Swahili

ศาสนา โรมันคาทอลิก 56.5% โปรเตสแตนท์ 26% คริสต์(Adventist) 11.1% อิสลาม 4.6% ความเชื่อดั้งเดิม0.1% ไม่นับถือศาสนา 1.7%

วันชาติ 1 กรกฎาคม

การเมืองการปกครอง

รวันดามีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งผ่านการลงประชามติเมื่อปี 2546 กำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ มาจากการเลือกตั้งทางตรง ดำรงตำแหน่งคราวละ 7 ปี สามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติของรวันดาเป็นระบบสองสภา คือ (1) สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 80 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 53 คน และการเลือกตั้งทางอ้อมจากกลุ่มผลประโยชน์จำนวน 27 คน และ (2) วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 24 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม 16 คน และแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี 8 คน ส่วนฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลหลายระดับ ได้แก่ ศาลฎีกา ศาลภูมิภาค ศาลเขต และคณะกรรมการไกล่เกลี่ย (รวันดาไม่ยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2553 (ค.ศ. 2010) ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นาย Paul Kagame ผู้แทนพรรค Rwandan Patriotic Front (RPF) ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 90 บรรยากาศการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย มีชาวรวันดามาร่วมลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถึงร้อยละ 96 จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

นาย Paul Kagame มาจากชนเผ่าตุดซี่ และเคยเป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำแนวร่วม Rwandan Patriotic Front (RPF) ใช้กำลังเข้าต่อต้านและโค่นล้มรัฐบาลที่นำโดยชาวฮูตูในช่วงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปัจจุบัน นาย Kagame เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนชาวรวันดาโดยทั่วไป ในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศกลับคืนสู่ภาวะความสงบสุขเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน นโยบายที่สำคัญที่ประธานาธิบดี Paul Kagame ให้ความสำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมการก่อสร้าง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การพัฒนาระบบการเงินและธนาคาร การพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคม และการแก้ปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยในการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2553 (ค.ศ. 2010) นาย Kagame ได้เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ได้แก่

(1) ความสำเร็จของรวันดาการจัดการเลือกตั้งที่มีเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงพัฒนาการทางการเมืองของรวันดาที่สามารถดำเนินตามครรลองประชาธิปไตยโดยปราศจากความรุนแรง

(2) ปัญหาความยากจนของประชาชนรวันดาซึ่งรัฐบาลจะเร่งแก้ไขด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด

(3) ความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของรัฐบาลรวันดาที่พัฒนาประเทศและสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน โดยยึดหลักการบริหารที่โปร่งใสและยุติธรรมและไม่ยอมรับการฉ้อราษฎร์บังหลวง

(4) รัฐบาลรวันดาจะเร่งพัฒนาการค้าการลงทุน การพัฒนาแหล่งน้ำ พลังงานไฟฟ้า ทรัพยากรพลังงาน การสาธารณสุข และการศึกษา นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทสตรี

เศรษฐกิจและสังคม

รวันดาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในแอฟริกา เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมโลกในการฟื้นฟูประเทศหลังจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กอปรกับการเมืองภายในที่มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมนั้น รวันดายังคงเป็นประเทศที่ยากจน โดย IMF และธนาคารโลกได้จัดให้รวันดาเป็น 1 ใน 40 ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Heavily Indebted Poor Countries (HIPC) ประชากรกว่าร้อยละ 60 ของรวันดายังคงอยู่ในภาวะยากจน (living below poverty line)

แม้ว่าประชากรกว่าร้อยละ 90 ของประเทศอยู่ในภาคการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ ปัจจุบันรวันดายังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของประเทศ สินค้านำเข้าอื่น ๆ ที่สำคัญของรวันดา ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของรวันดา ได้แก่ กาแฟและชา หนังสัตว์ และแร่ดีบุก แต่รวันดายังขาดเทคโนโลยีและองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร รัฐบาลกำลังหาหุ้นส่วนในการลงทุนก่อตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อลดการนำเข้าสินค้าเกษตร เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และเพิ่มการจ้างงานในประเทศ

รวันดาเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในภูมิภาคแอฟริกา รวันดามีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรประมาณร้อยละ 2.8 คิดเป็นอันดับที่ 16 ของโลก ปัจจัยดังกล่าวทำให้รัฐบาลเร่งดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและโอกาสในการเข้ารับบริการทางสาธารณสุขให้แก่ประชาชน ในด้านการศึกษา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสอนภาษาอังกฤษให้แก่เยาวชนของประเทศ โดยกำหนดให้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ นอกจากนี้ รวันดาเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศเครือจักรภพ (Commonwealth) อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2553 และเป็นเพียงหนึ่งในสองประเทศที่เป็นสมาชิกโดยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

รวันดาได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community - EAC) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2550 (พร้อมกับบุรุนดี) ปัจจุบัน รัฐบาลรวันดาอยู่ระหว่างการปรับนโยบายด้านงบประมาณ การค้าและการตรวจคนเข้าเมืองให้สอดคล้องกับประเทศในกลุ่ม EAC เป็นที่น่าเชื่อว่า กระบวนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในกรอบ EAC โดยเฉพาะการจัดตั้งตลาดร่วมของกลุ่มประเทศในประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community Common Market) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ก.ค. 2553 เป็นต้นมา จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับรวันดา โดยเฉพาะในการลดข้อจำกัดจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของรวันดาที่เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล

ปัจจุบัน รัฐบาลรวันดามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership - PPP) โดยมุ่งเน้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่เพาะปลูก รัฐบาลจึงเน้นการพัฒนาด้านการบริการและการท่องเที่ยว โดยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางด้าน ICT และศูนย์กระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยรัฐบาลได้ลงทุนขยายสนามบินนานาชาติกรุงคิกาลีให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) เพื่อรองรับการขยายตัวของการคมนาคมขนส่งทางอากาศ ทั้งยังกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติคิกาลี โดยกลุ่มบริษัท Radisson ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้าและเป็นศูนย์ประชุมที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในแอฟริกาตะวันออก นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (eco-tourism) โดยเน้นความแปลกใหม่และมีจุดขายคือ การชมลิงกอริลาภูเขา ซึ่งมีอยู่ในไม่กี่ประเทศในโลก

สาขาธุรกิจที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและอาจดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ได้แก่ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นที่ และอาคาร/ที่พักอาศัย ทั้งรัฐบาลและเอกชนมีโครงการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก จนเกิดภาวะขาดแคลนผู้รับเหมาก่อสร้างในบางช่วง นอกจากนี้ ยังมีสาขาการบริการทางการเงิน การธนาคาร การสื่อสารโทรคมนาคม ปัจจุบัน การลงทุนของชาวต่างชาติที่มีมูลค่าสูงที่สุดในรวันดาคือ การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 100 เมกะวัตต์ต่อวัน โดยบริษัทของสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เงินลงทุนถึง 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การต่างประเทศ

หลังจากที่สถานการณ์การเมืองรวันดามีเสถียรภาพมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างรวันดากับต่างประเทศก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ ความขัดแย้งระหว่างรวันดากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นจนกระทั่งทั้งสองประเทศได้ปรับระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 2552 (ค.ศ. 2009) และทางการรวันดาได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมปฏิบัติการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงชาวฮูตูในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก นอกจากนี้ รวันดายังได้เข้าเป็นสมาชิกเครือจักรภพ เช่นเดียวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

ความสัมพันธ์ระหว่างรวันดากับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม การที่หลายประเทศต้องเป็นผู้แบกรับภาระจากผู้ลี้ภัยชาวรวันดาจำนวนมากยังคงเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรวันดา โดยมีการคาดการณ์ว่า ปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยชาวรวันดาอยู่นอกประเทศประมาณ 57,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และที่เหลือในบุรุนดี ยูกันดา ฯลฯ ในขณะที่แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ และเคยมีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยยุติความขัดแย้งระหว่างรวันดากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปี 2547 (ค.ศ. 2004)

สำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศตะวันตกนั้น รวันดามีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศและกลุ่มประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สวีเดน และเบลเยียม นอกจากนี้ ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสยังมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยรวันดาและฝรั่งเศสได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันในปี 2552 (ค.ศ. 2009) และต่อมา ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ได้เยือนรวันดาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.พ. 2553 (ค.ศ. 2010)

เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา รวันดามีประเด็นที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยชาติตะวันตก ได้แก่ (1) การดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อปี 2537 (2) ประเด็นด้านกระบวนการประชาธิปไตย การกำจัดคู่แข่งทางการเมือง และการข่มขู่สื่อมวลชน และ (3) การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรวันดา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรวันดาไม่ได้มีท่าทีที่ตอบสนองต่อข้อกังวลของชาติตะวันตกเท่าใดนัก ประธานาธิบดี Kagame มีท่าทีที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับการลดการพึ่งพิงการช่วยเหลือจากต่างชาติ นอกจากนี้ ยังอาจกล่าวได้ว่า ชาวรวันดาเองก็ไม่ได้มีความรู้สึกที่ดีต่อชาติตะวัตกเท่าใดนัก เนื่องจากประสบการณ์ที่ได้รับในช่วงที่ประเทศตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก รวมถึงบทบาทที่ล้มเหลวของสหประชาชาติในการหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา

รวันดามีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศและกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ อาทิ องค์การสหประชาชาติ (UN) สหภาพแอฟริกา (AU) กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งแอฟริกา (Economic Commission for Africa - ECA) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา (AfDB) เป็นต้น

ในระยะหลัง ๆ รัฐบาลรวันดาได้หันมาให้ความสนใจประเทศในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจีนกับอินเดีย เนื่องจากตระหนักว่า ประเทศในเอเชียมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกับประเทศในแอฟริกามากกว่าชาติตะวันตก และสามารถรับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศได้ง่ายกว่าในทางปฏิบัติ

ประเด็นสำคัญในช่วงที่ผ่านมาคือ การที่รวันดาขู่ถอนกำลังทหารออกจากภารกิจรักษาสันติภาพผสมระหว่างสหภาพแอฟริกากับสหประชาชาติในดาร์ฟูร์ (AU-UN Hybrid Operation in Darfur - UNAMID) ในประเทศซูดาน เพื่อประท้วงสหประชาชาติที่จะตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับกำลังทหารของรวันดาที่มีส่วนในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเมื่อปี 2539 (ค.ศ. 1996) (DRC Mapping Exercise) อย่างไรก็ตาม ในที่สุด สหประชาชาติได้ระงับการตีพิมพ์รายงานฉบับดังกล่าว ปัจจุบัน รวันดาได้ส่งกำลังทหารประมาณ 3,300 นาย เข้าร่วมในภารกิจ UNAMID ทั้งยังมีนายทหารระดับนายพลชาวรวันดาเป็นผู้บัญชาการกองกำลัง UNAMID ซึ่งมีกำลังพลกว่า 21,800 นายด้วย

ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-รวันดา

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

ไทยกับรวันดาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2530 โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบีดูแลรวันดา ในขณะที่ฝ่ายรวันดาได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตรวันดาประจำกรุงโตเกียว มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ความสัมพันธ์ของสองฝ่ายเป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาระหว่างกัน

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

การค้าระหว่างไทยกับรวันดายังมีมูลค่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศแถบแอฟริกาตะวันออกอื่น ๆ โดยในปี 2554 (ค.ศ. 2011) มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับรวันดา มีมูลค่า 2.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกสินค้าไปรวันดาเป็นมูลค่า 2.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า 0.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับรวันดา 2.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปรวันดาได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า รองเท้าและชิ้นส่วน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสินค้านำเข้าจากรวันดา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ ผลิตภัณฑ์โลหะ และเศษโลหะ ส่วนด้านการลงทุนในปัจจุบัน มีนักลงทุนไทยทำเหมืองอัญมณีที่รวันดา 1 ราย

ร่างความตกลงทวิภาคีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

(1) ความตกลงคุ้มครองและส่งเสริมการลงทุน

(2) ความตกลงยกเว้นภาษีซ้อน

(3) ความตกลงด้านการค้า

(4) ความตกลงระหว่างหอการค้าไทย-รวันดา

การเยือนที่สำคัญ

5.4.1  ฝ่ายไทย ยังไม่มี

5.4.2  ฝ่ายรวันดา

- H.E.Mr. Bernard Makuza นรม. รวันดาเดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ 17-21 พ.ย. 2553 เพื่อแสวงหาลู่ทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและรวันดา

 

************************

มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร.02-643-5047-8