การเลือกตั้งในองค์การระหว่างประเทศ

การเลือกตั้งในองค์การระหว่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มิ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 26,199 view

การเลือกตั้งในองค์การระหว่างประเทศ

1. การเลือกตั้งในองค์การระหว่างประเทศคืออะไร

2. กระบวนการของการเลือกตั้งในองค์การระหว่างประเทศ

3. กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทอย่างไร

4. ตำแหน่งและคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกอยู่ในปัจจุบัน

 

1. การเลือกตั้งในองค์การระหว่างประเทศคืออะไร

    สหประชาชาติมีองค์กรและคณะกรรมการต่าง ๆ เป็นกลไกการดำเนินงานในแต่ละด้าน ซึ่งองค์กรและคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ ที่หมุนเวียนกันเข้ามาปฏิบัติหน้าที่โดยผ่านการเลือกตั้งตามระยะเวลาที่กำหนด สมาชิกเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สมาชิกที่เป็นประเทศและสมาชิกที่เป็นบุคคล ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยและคนไทยได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรและคณะกรรมการเหล่านั้น

 

2. กระบวนการของการเลือกตั้งในองค์การระหว่างประเทศ

    องค์กรและคณะกรรมการต่าง ๆ ของสหประชาชาติจะมีจำนวนสมาชิกและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของแต่ละองค์กรหรือคณะกรรมการ โดยสหประชาชาติจะพยายามสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ หมุนเวียนกันเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ให้ได้มากที่สุดเพื่อลดการผูกขาด การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นการลงคะแนนลับ (secret ballot) ซึ่งประเทศที่จะได้รับเลือกตั้งจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนถึงจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละองค์กรหรือคณะกรรมการ เช่น คะแนนเสียงสองในสามหรือเกินกึ่งหนึ่งของประเทศสมาชิกที่เข้าประชุมและลงคะแนนเสียง เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่จะมีคะแนนเสียง 1 คะแนนเท่ากัน

 

3. กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทอย่างไร

    กระทรวงการต่างประเทศโดยกรมองค์การระหว่างประเทศร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรณรงค์หาเสียงกับประเทศต่าง ๆ ผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก คณะผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวา คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่าง ๆ และสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในประเทศไทย รวมทั้งหยิบยกประเด็นการขอเสียง/ แลกเสียงสนับสนุน    ในโอกาสที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศต่าง ๆ เดินทางมาเยือนประเทศไทยและได้หารือกัน หรือในการหารือทวิภาคีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยที่เดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ

 

4. ตำแหน่งและคณะกรรมการต่าง ๆ ไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกอยู่ในปัจจุบัน

     4.1 ตัวบุคคล

•   น.พ. สำลี เปลี่ยนบางช้าง

          ตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (World Health Organization Regional Director for South-East Asia – RD WHO/SEARO) วาระปี ค.ศ. 2004-2008 และ ค.ศ. 2009-2013

•   นายสมชัย เรี่ยวพานิชกุล

          ตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asian-Pacific Postal Union – APPU) วาระปี ค.ศ. 2005-2009 และ ค.ศ. 2009-2013

•   นายไกรสร พรสุธี

          ตำแหน่งรองเลขาธิการขององค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Telecommunity – APT) วาระปี ค.ศ. 2008 ค.ศ. 2009-2011 และ ค.ศ. 2012-2014

•   ดร. โสมสุดา ลียะวนิช

          ตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก ( World Heritage Committee – WHC) วาระปี ค.ศ. 2009-2013

•   นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

          ตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็ก (Committee on the Rights of the Child – CRC) วาระปี ค.ศ. 2009-2013

•      นายวิโรจน์ สุ่มใหญ่

          ตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotics Control Board – INCB) วาระปี ค.ศ. 2010-2015

•   ดร. เกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี

          ตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission (ILC) วาระปี ค.ศ. 2012-2016

•      นายมณเฑียร บุญตัน

          ตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิของคนพิการ  (Committee on the Rights of Persons with Disabilities – CRPD) วาระปี ค.ศ. 2013-2016

•      นางสาวอารีวรรณ ฮาวรังษี

          ตำแหน่งเลขาธิการองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Telecommunity – APT) วาระปี ค.ศ. 2015-2018

 

    4.2 ในนามประเทศ

•   สมาชิกสภาบริหาร (Council of AdministrationCA) และสมาชิกสภาปฏิบัติการไปรษณีย์ (Postal Operations Council – POC) ของสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union – UPU) วาระปี ค.ศ. 2009-2012 และ ค.ศ. 2013-2016                   

•   สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) วาระปี ค.ศ. 2010-2013

•   สมาชิกสภาบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (Council of International Telecommunication Union – ITU Council) วาระปี ค.ศ. 2011-2014 และ ค.ศ. 2015-2018

•   สมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UN Commission on International Trade Law – UNCITRAL) วาระปี ค.ศ. 2011-2016

•   สมาชิกคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรม (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) วาระปี ค.ศ. 2012-2014

•   สมาชิกคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women – CSW) วาระปี ค.ศ. 2012-2015

•   สมาชิกคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs – CND) วาระปี ค.ศ. 2012-2015

•   สมาชิกคณะกรรมการบริหารขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO Executive Board) วาระปี ค.ศ. 2012-2015

•   สมาชิกคณะมนตรีประศาสน์การ (Governing Council) ของ United Nations Human Settlements Programme (UN-HABITAT) วาระปี ค.ศ. 2012-2015

•   สมาชิกคณะกรรมการบริหารของกองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (Executive Board of United Nations Children’s Fund – UNICEF) วาระปี ค.ศ. 2013-2015

•   สมาชิกคณะกรรมการบริหารขององค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Entity for Gender Equality and the Empowerment of Women – UN Women) วาระปี ค.ศ. 2013-2015

•   คณะกรรมการผู้ว่าการ (Board of Governor) ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency – IAEA) วาระปี ค.ศ. 2013-2014

•   สมาชิกคณะมนตรีองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (Council of International Maritime Organization – IMO Council) วาระปี ค.ศ. 2014-2015

 

---------------------

กรมองค์การระหว่างประเทศ

กองงานบริหารองค์การระหว่างประเทศ.