วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มิ.ย. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ผู้เข้าร่วมประชุมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ครั้งแรก ปี 2537 ที่กรุงเทพมหานคร
1. ภูมิหลัง
ARF เป็นผลสืบเนื่องจากมติของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ เมื่อปี 2535 ในโอกาสดังกล่าว ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ประกาศเจตนารมณ์ที่จะแสวงหาเวทีในการนำรัฐสมาชิกเข้ามาเกี่ยวพันในกรอบความ ร่วมมือทางด้านความมั่นคง และส่งเสริมการหารือด้านความมั่นคงกับประเทศคู่เจรจาหรือ Dialogue Partners (ซึ่งขณะนี้มี 10 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย) โดยการขยายกรอบการหารือที่มีอยู่แล้วระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ การประชุม ASEAN Post Ministerial Conferences (PMC) ซึ่งหารือปัญหาต่างๆ ทั้งในด้านการเมืองและ เศรษฐกิจในระดับโลกออกไปเป็นอีกเวทีหนึ่งสำหรับการหารือด้านการเมืองและความ มั่นคงในภูมิภาคโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ARF มีการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2537
2. วัตถุประสงค์
2.1 ARF เป็นเวทีปรึกษาหารือ (consultative forum) เกี่ยวกับประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคง โดยมุ่งที่จะส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ ความร่วมมือ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศผู้เข้าร่วม และพัฒนาแนวทางการดำเนินการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) ซึ่งมุ่ง ป้องกันการเกิดและขยายตัวของความขัดแย้ง และเมื่อผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายพร้อมและสะดวกใจ ARF ก็อาจพัฒนาเป็นเวทีหารือแนวทางยุติ ความขัดแย้งระหว่างผู้เข้าร่วม
2.2 ในชั้นนี้ ARF ไม่ใช่เวทีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และไม่มีสถานะเป็นองค์การทางการ รวมทั้งไม่มีสำนักเลขาธิการ แต่เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนทัศนะ และกรอบ (framework) ที่ประเทศผู้เข้าร่วมจะร่วมกันแสวงหาแนวทางการร่วมมือ โดยเน้นการเข้าร่วมของฝ่ายการต่างประเทศและการทหาร
3. พัฒนาการของ ARF
3.1 ผู้เข้าร่วม
3.1.1 ปัจจุบัน ARF มีประเทศที่เข้าร่วม 22 ประเทศกับ 1 กลุ่ม ประกอบด้วย สมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (Dialogue Partners) ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย จีน รัสเซีย และสหภาพยุโรป ผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน (Observers) ได้แก่ ปาปัวนิวกินี และประเทศอื่นในภูมิภาค ได้แก่ มองโกเลียและสาธารณรัฐประชาชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ)
3.1.2 ประธานการประชุม ARF คือประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นประธานคณะกรรมการประจำอาเซียน (ASEAN Standing Committee : ASC) ซึ่งจะเวียนตามประเทศสมาชิกอาเซียนตามลำดับตัวอักษรและมีวาระ 1 ปี ประเทศที่เป็นประธาน ARF ปัจจุบัน ได้แก่ บรูไนฯ (กรกฎาคม 2544- กรกฎาคม 2545) และหลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting – AMM) ในเดือนกรกฎาคม 2545 กัมพูชาจะรับตำแหน่งประธาน ARF ต่อจาก
บรูไนฯ
3.2 รูปแบบการประชุม
3.2.1 รัฐมนตรีต่างประเทศและเจ้าหน้าที่อาวุโส ARF พบปะกันปีละ 1 ครั้ง โดย รัฐมนตรีจะพบในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสจะประชุมกันก่อนในเดือนพฤษภาคมในประเทศที่เป็นประธาน ARF ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมรัฐมนตรี ARF จะมีการออกแถลงการณ์ประธาน (Chairman’s Statement) เพื่อสะท้อนผลการหารือระหว่างผู้เข้าร่วมการประชุม
3.2.2 ARF แบ่งประเภทกิจกรรมออกเป็น 2 แนวทาง (Tracks) ได้แก่
1) กิจกรรมที่เป็นทางการ (Track I) เรียกว่า กิจกรรมระหว่างปี หรือ inter-sessional groups / meetings (ISG/ISM) ซึ่งเป็นกิจกรรมระดับเจ้าหน้าที่ที่หารือเกี่ยวกับ กิจกรรมเฉพาะเรื่อง อาทิ มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การรักษาสันติภาพ การค้นหาและกู้ภัย การบรรเทาภัยพิบัติ โดยกิจกรรมแต่ละกลุ่มจะมีประธานร่วมประกอบด้วยประเทศอาเซียนและประเทศที่มิ ใช่สมาชิกอาเซียน ปัจจุบัน กลุ่มกิจกรรมที่สำคัญได้แก่ Inter-sessional Support Group on Confidence Building Measures (ISG on CBMs) ซึ่งประเทศที่เป็นประธานร่วมสำหรับปีกิจกรรมนี้ (กรกฎาคม 2544- กรกฎาคม 2545) ได้แก่ เวียดนามและอินเดีย สำหรับประธานร่วม ISG on CBMs ในปี กิจกรรมต่อไปได้แก่ ลาวและนิวซีแลนด์
2) กิจกรรมที่ไม่เป็นทางการ (Track II) จัดโดยสถาบันวิจัย หรือสถาบันวิชาการของประเทศผู้เข้าร่วม ARF โดยมีนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐบาลเข้าร่วมประชุม ในฐานะส่วนตัว เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคงบางหัวข้อที่ประเทศผู้ เข้าร่วม ARF ยังไม่พร้อมที่จะหารือในเวทีทางการ
3.3 ขั้นตอนการพัฒนาของ ARF
3.3.1 ที่ประชุม ARF ครั้งที่ 2 ที่บันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน เมื่อปี 2538 ได้กำหนดหลักการพัฒนาของกระบวนการ ARF เป็น 3 ขั้นตอน (stages) ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 (Stage I) การส่งเสริมมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Promotion of Confidence Building Measures) ขั้นตอนที่ 2 (Stage II) การพัฒนาการทูตเชิงป้องกัน (Development of Preventive Diplomacy) และขั้นตอนที่ 3 (Stage III) การพัฒนากลไกสำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง (Development of Conflict Resolution Mechanisms)
3.3.2 ที่ผ่านมา ARF ได้เน้นการดำเนินกิจกรรมด้านการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงใน ภูมิภาค ขณะนี้ ARF ได้เริ่มศึกษามาตรการคาบเกี่ยวระหว่างการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูต เชิงป้องกันคือ การเพิ่มบทบาทของประธาน ARF โดยเฉพาะบทบาทด้านการไกล่เกลี่ย (good offices) และการจัดทำทะเบียน รายชื่อผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิของ ARF ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญ ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ARF ครั้งที่ 8 ที่เวียดนาม เมื่อ 25 กรกฎาคม 2544 ได้รับรองเอกสาร 3 ฉบับ ได้แก่ การทูตเชิงป้องกัน การเพิ่มบทบาทประธาน และอำนาจหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิของ ARF ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการของ ARF ในอนาคตต่อไป
3.3.3 เมื่อเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 ความสำคัญของ ARF ก็เด่นชัดขึ้นเพราะ ARF เป็นเวทีเดียวในภูมิภาคที่มีการหารือเรื่องการเมืองและความมั่นคง ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2545สหรัฐฯ และมาเลเซียเป็นเจ้าภาพร่วมจัดสัมมนาเรื่อง Financing on Terrorism ที่สหรัฐฯ และไทยและออสเตรเลียกำลังจะเป็นเจ้าภาพร่วมจัด Workshop on Prevention of Terrorism ในวันที่ 17-19 เมษายน 2545 ที่กรุงเทพฯ
4. บทบาทของไทยใน ARF
4.1 ผู้เข้าร่วม ARF ได้เห็นชอบในหลักการให้อาเซียนมีบทบาทนำในการกำหนด ทิศทาง (driver’s seat) ของ ARF ในส่วนของไทย ได้เป็นประธานการประชุม ARF ครั้งที่ 1 เมื่อ 25 กรกฎาคม 2537 และครั้งที่ 7 เมื่อ 27 กรกฎาคม 2543
4.2 ในช่วงปีกิจกรรม 2539-2540 และ 2540-2541 ไทยได้เป็นประธานร่วมกับนิวซีแลนด์จัดการประชุมเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติ (Inter-sessional Meetings on Disaster Relief - ISM on DR) 2 ครั้ง เมื่อ 19-20 กุมภาพันธ์ 2540 ที่กรุงเวลลิงตัน และ 18-20 กุมภาพันธ์ 2541 ที่กรุงเทพฯ และสำหรับปีกิจกรรม 2541-2542 ไทยเป็นประธานร่วมกับสหรัฐฯ จัดการประชุม ISG on CBMs 2 ครั้ง เมื่อ 4-6 พฤศจิกายน 2541 ที่เมืองโฮโนลูลู และเมื่อ 3-5 มีนาคม 2542 ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประธานร่วมกับไอร์แลนด์ในนามของสหภาพยุโรป จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องแนวทางการฝึกอบรมด้านการรักษาสันติภาพ ที่กรุงดับลิน ระหว่าง 19-23 ตุลาคม 2541 ด้วย
4.3 ในปีกิจกรรม 2542-2543 ที่ไทยดำรงตำแหน่งประธาน ARF ไทยได้พยายามดำเนินบทบาทประธาน ARF อย่างสร้างสรรค์ภายในกรอบที่ ARF เห็นชอบ ซึ่งรวมถึงการพยายามโน้มน้าวเกาหลีเหนือเข้าร่วม ARF ได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมบทบาทของ ARF ในการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค
4.4 สำหรับปีกิจกรรม 2544-2545 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาเรื่องกฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธ (Seminar on Law of the Armed Conflict) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7-10 สิงหาคม 2544 ที่กรุงเทพฯ และได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับออสเตรเลียจัด Workshop on Prevention of Terrorism ในวันที่ 17-19 เมษายน 2545 ที่กรุงเทพฯ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **