ราชอาณาจักรสวีเดน

ราชอาณาจักรสวีเดน

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 47,179 view


ราชอาณาจักรสวีเดน
Kingdom of Sweden

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวียทางตอนเหนือของทวีปยุโรป
ทิศเหนือติดกับนอร์เวย์และฟินแลนด์ ทิศตะวันออกติดกับอ่าวบอสเนีย ทิศใต้ติดกับทะเลบอลติก ทิศตะวันตกติดกับนอร์เวย์

พื้นที่ 449,964 ตารางกิโลเมตร

ประชากร  9.11 ล้านคน กลุ่มชนชาติ ชาวซอมิ (แลปป์) เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มน้อยประมาณ 15,000 คน

ภาษา ภาษาราชการ คือ ภาษาสวีดิช นอกจากนี้ ใช้ภาษาซอมิและภาษาฟินนิชเป็นส่วนน้อย

ศาสนา คริสต์นิกายลูเทอแรน ร้อยละ 87 ศาสนาอื่น ร้อยละ 13

เมืองหลวง กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm)

สกุลเงิน โครนสวีเดน (Swedish Krona)

วันชาติ 6 มิถุนายน

ระบบการเมือง ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

ประมุขสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ (Carl XVI Gustaf )

นายกรัฐมนตรี นายเฟรียดริก เรนเฟลท์ (Fredrik Reinfeldt)

รัฐมนตรีต่างประเทศ นายคาร์ล บิลต์ (Carl Bildt)

สถาบันการเมือง
สวีเดนมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข เป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2352 ส่วนรัฐสภาใช้ระบบสภาเดียว คือ สภาริกสดอก (Riksdag) มีจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 349 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน มีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปีพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐสภาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ 4 จากการลงคะแนนเสียงทั่วประเทศ ประธานรัฐสภาเป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรี สำหรับฝ่ายตุลาการแยกเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

การเมืองการปกครอง

รัฐสภา สวีเดนมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข เป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2352 ส่วนรัฐสภาใช้ระบบสภาเดียว คือ สภาริกสดอก (Riksdag) มีจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 349 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน มีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี พรรคการเมืองที่จะมีสมาชิกในรัฐสภาได้ จะต้องได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4

รัฐสภาสวีเดนประกอบด้วย ประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 3 คน กรรมาธิการ 15 คณะ สมัยประชุมรัฐสภาจะมีอยู่ประมาณปีละ 8 เดือน โดยจะมีการปิดสมัยประชุมตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน-กันยายน คณะกรรมาธิการจะมีการประชุมทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี ส่วนการประชุมรัฐสภาจะมีทุกสัปดาห์ตั้งแต่วันอังคาร-วันพฤหัสบดี

พรรคการเมือง
พรรคการเมืองที่สำคัญของสวีเดน อาทิ พรรค Social Democratic Party (SDP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดและประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลบ่อยครั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของสวีเดน พรรค Green Party (GP) พรรค Left Party (LP) (ทั้งสามพรรคการเมืองข้างต้นเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย) พรรค Moderate Party (MP) พรรค Liberal Party พรรค Center Party (CP) และพรรค Christian Democratic Party (CDP) (ทั้งสี่พรรคการเมืองนี้เป็นพรรคการเมืองฝ่ายกลาง – ขวา)

พัฒนาการการเมืองภายในประเทศ
สวีเดนจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 ผลปรากฏว่า พรรคร่วมรัฐบาล (Alliance for Sweden) ชุดก่อน ซึ่งประกอบด้วยพรรค MP พรรค Liberal Party พรรค CDP และพรรค CP ได้รับชัยชนะอีกครั้ง ด้วยคะแนนทั้งหมดร้อยละ 49.6 (173 ที่นั่ง จากทั้งหมด 349 ที่นั่ง) ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน (Red – Greens) ได้รับคะแนนเสียงทั้งหมดร้อยละ 44.7 (156 ที่นั่ง) ส่งผลให้นายเฟรดริก ไรน์เฟลด์ท (Fredrik Reinfeldt) หัวหน้าพรรค MP แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง ต่อมา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของสวีเดน อนึ่ง พรรค SDP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ และเหยียดเชื้อชาติ ได้รับเลือกเข้าในสภาเป็นครั้งแรกด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 5.7 (20 ที่นั่ง) ทำให้นักวิชาการสวีเดนคาดว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้จะเป็นไปอย่างลำบาก เนื่องจากรัฐบาลไม่มีความมั่นคง

รัฐบาล
อำนาจทางการเมืองเป็นของรัฐบาลและพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีจำนวน 22 คน (เป็นชาย 11 คน หญิง 11 คน) มีนายกรัฐมนตรี 1 คน

การปกครองส่วนท้องถิ่น
ก่อนปี 2514 สวีเดนถูกแบ่งออกเป็น 850 เทศบาล (Kommun) แต่ปัจจุบันได้ลดจำนวนลงเหลือเพียง 288 เทศบาล โดยแต่ละเทศบาลต่างมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งอำนาจและหน้าที่ของเทศบาลเกี่ยวข้องกับการให้บริการและการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ระหว่างรัฐบาลกลางกับเทศบาลมีการปกครองในระดับภูมิภาคประกอบด้วย 24 มณฑล โดยรัฐบาลกลางมีข้าหลวงมณฑลเป็นผู้แทนและมีคณะกรรมการบริหารมณฑล ข้าหลวงมณฑลได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกลางให้ดำรงตำแหน่งวาระ 6 ปี โดยมักจะคัดเลือกมาจากนักการเมือง แต่บุคคลเหล่านี้จะต้องลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญของการบริหารมณฑลดำเนินงานโดยคณะกรรมการบริหาร ซึ่งข้าหลวงเป็นประธาน และสมาชิกคณะกรรมการบริหารมณฑลได้รับการแต่งตั้งจากสภามณฑล ภารกิจส่วนใหญ่ของการบริหารมณฑลมีลักษณะเป็นงานส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ละมณฑลมีสภามณฑลที่มาจากการเลือกตั้ง สภานี้มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในด้านอนามัยและสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงการให้บริการในโรงพยาบาล การจัดการศึกษาบางประเภทและการฝึกอาชีพ สภามณฑลมีสิทธิที่จะเก็บภาษีรายได้มาใช้เป็นงบประมาณรายจ่ายได้ นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2519 คนต่างประเทศที่มีถิ่นที่อยู่ในสวีเดนตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปมีสิทธิที่จะออกเสียงเลือกตั้งและสมัครเข้ารับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทั้งในสภาเทศบาลและสภามณฑล

การต่างประเทศ
การสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นและการแบ่งแยกทางการเมืองในยุโรป ทำให้ช่วงทศวรรษ 1990 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสวีเดน โดยสวีเดนได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมในกระบวนการรวมตัวของยุโรปตะวันตก ซึ่งสวีเดนได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (European Union - EU) เมื่อปี 2534 และได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการลงประชามติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2537 ถึงร้อยละ 52.3 และในฐานะของสมาชิกสหภาพยุโรป สวีเดนจะยังธำรงไว้และจะไม่เป็นพันธมิตรทางการทหาร โดยสวีเดนจะไม่พิจารณาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางการป้องกันใด ๆ ของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ สวีเดนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association - EFTA) เมื่อปี 2503 อย่างไรก็ดี ภายหลังที่สวีเดนเข้าเป็นสมาชิก EU ในปี 2538 ก็มิได้เป็นสมาชิกของ EFTA อีกต่อไป และสวีเดนยังเป็นประเทศสมาชิกคณะมนตรีกลุ่มนอร์ดิก (Nordic Council) และเข้าร่วมในโครงการพันธมิตรเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace - PFP) ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) บทบาทด้านการต่างประเทศของสวีเดนมีความโดดเด่นมากขึ้น

ในภาพรวม สวีเดนให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคม อาทิ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การมีบทบาทแข็งขันในองค์การสหประชาชาติ (Organization of United Nations – OUN) และการมีส่วนร่วมในกระบวนการบูรณาการของยุโรป รวมทั้งการส่งเสริมการค้าเสรี โดยได้ให้ลำดับความสำคัญในกิจการด้านการต่างประเทศ ดังนี้
- มีบทบาทที่แข็งขันในองค์การสหประชาชาติ EU และเวทีระหว่างประเทศสำคัญๆ เช่น องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe – OSCE) การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM)
- พัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปเหนือ ทั้งกลุ่มประเทศนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์และสวีเดน) และกลุ่มประเทศบอลติก (เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย)
- ธำรงไว้ซึ่งหลักการไม่เป็นพันธมิตรทางการทหาร อย่างไรก็ดี สวีเดนได้เข้าร่วมในโครงการพันธมิตรเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace - PFP) ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization – NATO)
- ให้ความสำคัญในประเด็นระหว่างประเทศในเรื่องการลดอาวุธ การป้องกันความขัดแย้ง สิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศ การพัฒนาที่ยั่งยืน การค้าเสรี การต่อต้านการก่อการร้าย
- พิจารณาปรับเพิ่มงบประมาณการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศอยู่ในสัดส่วนร้อยละ ๑ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ โดยจะให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม เช่น การแก้ไขความยากจน การต่อสู้กับโรคเอดส์ (HIV/AIDS) และปัญหาผู้ลี้ภัย เป็นต้น

1. ประวัติบุคคลสำคัญ (ประมุขของรัฐ)
สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน (His Majesty King Carl XVI Gustaf) เป็นพระราชโอรสใน Prince Gustaf Adolf และ Princess Sibylla of Sachsen-Coburg-Gotha ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2489 (ค.ศ.1946) และเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี 2516 (ค.ศ.1973) อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีซิลเวีย (Her Majesty Queen Silvia) ซึ่งมีพระนามเดิม คือ Ms. Silvia Sommerlath เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2519 (ค.ศ.1976) และมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม 3 พระองค์ คือ Her Royal Highness Crown Princess Victoria (ประสูติเมื่อปี 2520 (ค.ศ.1977)) His Royal Highness Prince Carl Philip (ประสูติเมื่อปี 2522 (ค.ศ.1979)) และ HRH Princess Madeleine (ประสูติเมื่อปี 2525 (ค.ศ.1982))

2. ประวัติบุคคสำคัญ (ผู้นำรัฐบาล)
2.1 นายกรัฐมนตรี

นาย Frederik Reinfeldt อายุ 41 ปี เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2549 ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น หัวหน้าพรรค Moderate ตั้งแต่ปี 2546 (ค.ศ. 2003)

2.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
นาย Carl Bildt อายุ 57 ปี เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2492 (ค.ศ. 1949) เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสมัยแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2549 ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรีสวีเดน ระหว่างปี 2534-2537(ค.ศ.1991-1994) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องคาบสมุทรบอลข่าน (Special Envoy of the Secretary-General of the United Nations for Balkans) ระหว่างปี 2542-2544 (ค.ศ. 1999-2001)
 

เศรษฐกิจการค้า

- สวีเดนเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป แต่มีประชากรเพียง 9.11 ล้านคน จึงทำให้สวีเดนมีตลาดภายในขนาดเล็กและมีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการส่งออก โดยมากกว่าร้อยละ 80 ของสินค้าส่งออกเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมป่าไม้ กระดาษ เหล็ก อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ อากาศยาน โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ การผลิตอาวุธ/ยุทโธปกรณ์ทางทหาร และการผลิตเวชภัณฑ์

- ในด้านนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน แต่เดิมค่าเงินโครนสวีเดนถูกกำหนดไว้คงที่เมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญ แต่เมื่อปี 2535 ธนาคารแห่งชาติของสวีเดนได้ยกเลิกระบบดังกล่าวและปล่อยให้ค่าเงินโครนสวีเดนลอยตัว และหันมาใช้นโยบายควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 2 ต่อปี

- ต่อมา สวีเดนเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union – EU) เมื่อปี 2538 แต่ยังไม่ยอมรับนโยบายเงินสกุลเดียว โดยได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Monetary Union – EMU) แม้ว่าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะผ่านเกณฑ์ (convergence criteria) ที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ก็ตาม และเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2546 ทางการสวีเดนได้จัดการลงประชามติว่า สวีเดนจะเข้าร่วมการใช้เงินยูโรหรือไม่
ผลปรากฏว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 56.1 ไม่สนับสนุนให้สวีเดนเข้าร่วมการใช้เงินสกุลยูโร (ขณะนี้มีเดนมาร์ก สวีเดน และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกเก่าของสหภาพยุโรปที่ยังไม่เข้าร่วมการใช้เงินสกุลยูโร)

- ตลาดสินค้าส่งออกสำคัญที่สุดของสวีเดนอยู่ในยุโรปตะวันตก โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าถูกส่งออกไปยังสหภาพยุโรป อาทิ กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านนอร์ดิก (เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ และนอร์เวย์) เยอรมนี สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และฝรั่งเศส สำหรับตลาดส่งออกนอกภูมิภาคยุโรปที่สำคัญของสวีเดน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับในด้านการนำเข้า ประเทศคู่ค้าของสวีเดนที่สำคัญที่สุด คือ สหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา


ดรรชนีทางเศรษฐกิจ (2556)
1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 526.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
GDP ต่อหัว : 42,210 ดอลลาร์สหรัฐ
2. อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ : ร้อยละ 1.7
3. อัตราเงินเฟ้อ : ร้อยละ 1.4
4. ประเทศคู่ค้าสำคัญ : เยอรมนี สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สหรัฐฯ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์
5. สินค้าเข้าสำคัญ : เครื่องจักร น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เครื่องยนต์ เครื่องนุ่งห่ม 
6. สินค้าออกสำคัญ : เครื่องจักรกล เครื่องยนต์ ไม้ กระดาษ เหล็กและเหล็กกล้า

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรสวีเดน

1. ความสัมพันธ์ทางการทูต/การเมือง

- ไทยและสวีเดนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศได้ทำสนธิสัญญามิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (The Treaty of Friendship, Commerce and Navigation of 1868) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2411 และตั้งแต่ปี 2425 ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดนด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง โดยหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย อัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดนคนแรก

- เมื่อปี 2487 ไทยได้เปิดสถานอัครราชทูตประจำกรุงสตอกโฮล์มขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ต่อมา เมื่อปี 2497 ไทยได้ปิดสถานอัครราชทูตฯ และให้อัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดน จวบจนกระทั่งปี 2502 ไทยและสวีเดนได้ยกฐานะความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต และไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อปี 2506 โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศฟินแลนด์และเอสโตเนียด้วย ต่อมา เมื่อปี 2545 ไทยได้เปิดสำนักงานการท่องเที่ยว (ททท.) ประจำกรุงสตอกโฮล์ม และได้เปิดสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน (BOI) ณ กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552

- ปัจจุบัน นายสมชัย จรณะสมบูรณ์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม นอกจากนี้ ไทยยังมีกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์และกงสุลกิตติมศักดิ์ในสวีเดน ดังนี้
(1) กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงสตอกโฮล์ม คือ นางวีเวกา อักซอน ยูนซอน (Viveca Axson Johnson) และมีนางฟรานเซส บรูมอน (Frances Broman) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ (ประเทศไทยได้มีกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำประเทศสวีเดนมาตั้งแต่ปี 2431(ค.ศ. 1888) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งนาย Axel Johnson เป็นกงสุลสยามคนแรกประจำประเทศสวีเดนเมื่อปี 2426 (ค.ศ. 1883) และหลังจากนั้นครอบครัว Johnson ได้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยต่อมาเป็นเวลา 4 ชั่วอายุคน ปัจจุบันนาง Viveca Axson Johnson ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงสตอกโฮล์มคนใหม่สืบแทนนาย Bo Axelson Johnson บิดา ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 (ค.ศ. 1997) นอกจากนี้แล้ว ฝ่ายไทยยังได้แต่งตั้งนาง Frances Broman ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำกรุงสตอกโฮล์ม)
(2) กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองโกเธนเบอร์ก คือ นายเคนเนท ออร์เกรน (Kenneth Orrgren)

- สำหรับสวีเดน สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศลาว กัมพูชา พม่า และฟิลิปปินส์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ นายคลอส มูลีน (Klas Molin) นอกจากนี้ ยังมีสถานกงสุลสวีเดนประจำประเทศไทย จำนวน 3 แห่ง คือ
(1) สถานกงสุลสวีเดนประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุม 10 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และอุตรดิตถ์ มีนางศุภจี นิลอุบล ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ 
(2) สถานกงสุลสวีเดนประจำเมืองพัทยา ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีนายชัชวาล ศุภชยานนท์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ 
(3) สถานกงสุลสวีเดนประจำจังหวัดภูเก็ต อยู่ระหว่างการสรรหาบุคคล


- ปัจจุบัน คนไทยในสวีเดนมีจำนวนประมาณ 35,554 คน มีวัดไทย/สำนักสงฆ์ จำนวน 9 แห่ง สมาคมไทย จำนวน 24 สมาคม และมีร้านอาหารไทยจำนวนประมาณ 400 ร้าน

- ความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไทยกับสวีเดนเป็นไปโดยราบรื่น ทั้งสองฝ่ายได้ให้การสนับสนุนและร่วมมือกันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศด้วยดีมาโดยตลอด รวมทั้งในกรอบความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) EU, ASEM (ซึ่งไทย ฟิลิปปินส์ และสวีเดน มีความร่วมมือในโครงการต่อต้านการลักลอบการค้าสตรีและเด็ก) รวมทั้งความสัมพันธ์ในกรอบอาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU)
 

ความสัมพันธ์ด้านการค้า
การค้า

- ในปี 2556 การค้าไทย-สวีเดน มีมูลค่ารวม 1,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 529 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 1,161 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (การค้ารวมเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ร้อยละ 12  ส่งออกไทยลดลงร้อยละ 8 และไทยนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25) 

- สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

- ส่วนสินค้านำเข้า ได้แก่ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ผลิตภัณฑ์โลหะ

การลงทุน

- การลงทุนจากสวีเดนมีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะ 10 ปี (ปี 2545-2555) มีโครงการลงทุนในไทยรวม 67 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 16,300 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและโลหะการ และอุปกรณ์การแพทย์

- จากสถิติ BOI เมื่อปี 2555  สวีเดนลงทุนในไทย 9 โครงการ มูลค่าประมาณ 4,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2554 (ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ เรือเฟอร์รี่ เครื่องมือสำหรับตัดชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูปสำหรับงานอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียว อวัยวะเทียมและเฝือก เครื่องมือผ่าตัดศัลยกรรม ชิ้นส่วนโลหะกลึงแต่ง) โดยการลงทุนของสวีเดนที่เป็นที่รู้จักของคนไทย อาทิ ห้าง IKEA เสื้อผ้า H&M เครื่องใช้ไฟฟ้า Electrolux  โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร Ericsson รถยนต์และอุปกรณ์ Volvo รถยนต์และอากาศยาน SAAB เป็นต้น

- ปัจจุบัน มีบริษัทธุรกิจชั้นนำของสวีเดนจำนวนมากที่เข้ามาลงทุนและจัดตั้งฐานการผลิตในไทย อาทิ บริษัท Ericsson (เครื่องโทรคมนาคม และโทรศัพท์) บริษัท Molnlycke Health Care (เสื้อกาวน์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบใช้แล้วทิ้ง) บริษัท Volvo Truck (ผลิต/ประกอบรถบรรทุกและชิ้นส่วนรถยนต์) บริษัท Vattenfall AB (พลังงาน) บริษัท Purac (โรงงานกำจัดน้ำเสีย) บริษัท Tetra Pak (บรรจุภัณฑ์) บริษัท Scandinavian Village Co.Ltd. (โครงการพำนักระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุและวัยเกษียณ) บริษัท Electrolux (เครื่องซักผ้าและตู้เย็น) บริษัท ABB บริษัท Eka Chemicals บริษัท Perstorp บริษัท IKANO (ผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนยี่ห้อ IKEA)


ความมั่นคง

- เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ Gripen จากสวีเดน ระยะที่ 1 จำนวน 6 เครื่อง วงเงิน 19,000 ล้านบาท งบประมาณผูกพัน 5 ปี (2551 - 2555) และเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ Gripen จากสวีเดน ระยะที่ 2 อีกจำนวน 6 เครื่อง วงเงิน 16,266 ล้านบาท งบประมาณผูกพัน 5 ปี (2554 - 2558) ล่าสุดได้มีการส่งมอบเครื่องบินฯ 3 ลำสุดท้าย เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 แต่สวีเดนยังคงมีพันธะที่จะต้องช่วยเหลือไทยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว โดยการจัดสรรทุนการศึกษาระดับปริญญาโท ระยะแรก (ปี 2552-2554) จำนวน 45 ทุน และระยะที่ 2 (ปี 2555-2557) จำนวน 24 ทุน ให้แก่นักศึกษา / บุคลากรทางทหารของไทย ไปศึกษาต่อที่สวีเดน การซื้อเครื่องบินฯ ครั้งนี้ ช่วยส่งเสริมให้ทั้ง 2 ประเทศเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการทหารให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น


การท่องเที่ยว

- ไทยเป็นจุดหมายปลายทางหลักอันดับที่ 1 ของนักท่องเที่ยวสวีเดน เมื่อปี 2556 มีนักท่องเที่ยวสวีเดนเดินทางมาเยือนไทย จำนวน 350,565 คน 

- ไทยได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยวหลายรางวัล อาทิ ประเทศท่องเที่ยวที่ดีที่สุดจากนิตยสาร Travels (ติดต่อกันมาเป็นเวลาอย่างน้อย 7 ปี) ซึ่งเป็นนิตยสารท่องเที่ยวของสวีเดน รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเทศท่องเที่ยวยอดนิยม ซึ่งจัดโดยนิตยสาร Travel News (6 ครั้งติดต่อกัน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 สายการบินข้ามทวีปดีเด่น (สายการบินสิงคโปร์ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1) รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขาประเทศท่องเที่ยวระยะไกล และรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 สาขาประเทศที่น่าอยู่อาศัย (รองจากสวีเดนและสหรัฐอเมริกา) และจังหวัดภูเก็ตได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขาแหล่งท่องเที่ยวโดยการบินเช่าเหมาลำ (จังหวัดกระบี่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3) จากการลงคะแนนของนักท่องเที่ยวชาวสวีเดนจากนิตยสาร RES ซึ่งเป็นนิตยสารท่องเที่ยวรายเดือนที่มีชื่อเสียงของสวีเดน ฉบับเดือนธันวาคม 2550

- ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวสวีเดนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย คือ ความตอบสนองต่อความต้องการของชาวสวีเดนในการท่องเที่ยวประเภทแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลของไทย ซึ่งมีความคุ้มค่าเงินในการท่องเที่ยวความสะดวกในด้านการเดินทางคมนาคม


การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างไทยกับสวีเดน

ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

- วันที่ 13 - 21 กรกฎาคม 2440 เสด็จฯ เยือนสวีเดน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 21-24 กันยายน 2503 เสด็จฯ เยือนสวีเดน อย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 15 –- 16 กันยายน 2540 เสด็จฯ เยือนสวีเดน อย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 23 –- 25 กุมภาพันธ์ 2516 เสด็จฯ เยือนสวีเดน เพื่อทรงเข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟที่ 6 แห่งสวีเดน
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 5 - 9 ตุลาคม 2529 เสด็จเยือนสวีเดน
- วันที่ 7 –-13 มิถุนายน 2531 เสด็จเยือนสวีเดน
- วันที่ 27 กันยายน –-12 ตุลาคม 2531 เสด็จเยือนสวีเดน
- วันที่ 29 มกราคม –-3 กุมภาพันธ์ 2541 เสด็จเยือนสวีเดน
- วันที่ 9 –-16 กรกฎาคม 2547 เสด็จเยือนสวีเดน
- วันที่ 7 – 18 กรกฎาคม 2556 เสด็จเยือนสวีเดน (และนอร์เวย์)

นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรี
- วันที่ 1 กันยายน 2522 พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี เยือนสวีเดน อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 24 -27 กันยายน 2532 พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เยือนสวีเดน อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 4-5 ตุลาคม 2534 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศพร้อมคณะนักธุรกิจไทยเยือนสวีเดนอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 16-17 มิถุนายน 2541 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนสวีเดน    
- วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2542 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนสวีเดน
- วันที่ 24 –-24 กันยายน 2547 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนสวีเดน อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 4-6 มีนาคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนสวีเดนอย่างเป็นทางการ

       

ฝ่ายสวีเดน
พระราชวงศ์

สมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน และสมเด็จพระราชินีซิลเวีย

- วันที่ 21 - 23 เมษายน 2523 เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 25 กันยายน 2524 เสด็จฯ แวะผ่านไทย หลังจากการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 6 –-10 กุมภาพันธ์ 2532 เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 เสด็จฯ แวะผ่านไทย หลังจากการเสด็จฯ เยือนญี่ปุ่น เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น
- วันที่ 22 –- 23 กันยายน 2543 เสด็จฯ แวะผ่านไทย เพื่อทรงร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย
- วันที่ 2-3 ตุลาคม 2543 เสด็จฯ แวะผ่านไทย ภายหลังจากการเสด็จฯ ร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย
- วันที่ 28 ธันวาคม 2545 -– 16 มกราคม 2546 เสด็จฯ เยือนไทย พร้อมด้วยเจ้าหญิงวิกตอเรีย มกุฎราชกุมารี เจ้าชายคาร์ล ฟิลิป และเจ้าหญิงมาเดอลีน เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 25 กุมภาพันธ์ –-1 มีนาคม 2546 เสด็จฯ เยือนไทย อย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 31 มกราคม 2547 เสด็จฯ แวะเยือนไทย ก่อนเสด็จฯ เยือนเวียดนาม อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 9 –-11 กุมภาพันธ์ 2547 เสด็จฯ แวะเยือนไทย หลังจากการเสด็จฯ เยือนบรูไน ดารุสซาลาม อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 17 –-20 กุมภาพันธ์ 2548 เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 12 –-21 มิถุนายน 2549 เสด็จฯ เยือนไทย เพื่อร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- วันที่ 14 – 15 สิงหาคม 2551 เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์ ก่อนเสด็จฯ เยือนจีน เพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
- วันที่ 28 ธันวาคม 2551 – 8 มกราคม 2552 เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์ ที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดระยอง
- วันที่ 5-12 กุมภาพันธ์ 2554 เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์ที่จังหวัดกรุงเทพฯและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- วันที่ 29 ธันวาคม 2554 – 10 มกราคม 2555 เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์ที่จังหวัดระยอง

สมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน
- วันที่ 30 สิงหาคม –- 1 กันยายน 2530 เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 6 –-9 ตุลาคม 2539 เสด็จฯ เยือนไทย เพื่อร่วมพิธีรับรองสมาชิกใหม่มูลนิธิลูกเสือโลก
- วันที่ 17 -– 22 กุมภาพันธ์ 2552 เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 24 และ 26 มกราคม 2557 เสด็จฯ แวะเปลี่ยนเครื่องบินที่ประเทศไทย ในวโรกาสเดินทางเยือนประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเยื่ยมชมกิจการลูกเสือฟิลิปปินส์

สมเด็จพระราชินีซิลเวีย
- วันที่ 25 สิงหาคม 2551 เสด็จฯ แวะผ่านไทย พร้อมด้วยเจ้าชายคาร์ล ฟิลิป
- วันที่ 8 –-10 เมษายน 2553 เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์

เจ้าหญิงมาเดอลีน
- วันที่ 7 –- 13 เมษายน 2551 เสด็จเยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 30 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2553 เสด็จเยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์

เจ้าหญิงคริสตินา
- วันที่ 6 –- 9 มีนาคม 2540 เสด็จเยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์
เจ้าชายเบอร์ทิล
- เดือนกุมภาพันธ์ 2508 เสด็จเยือนไทย อย่างเป็นทางการ
เจ้าชายวิลเลียม
- ปี 2454 เสด็จเยือนไทย
เจ้าชายออสการ์
- ปี 2427 เสด็จเยือนไทย


นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรี

- วันที่ 1 –-2 มีนาคม 2539 นางลีนา ชเยล์ม วัลเลน (Lena Hjelm-Wallen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี
- วันที่ 7 -9 มกราคม 2547 นายเยอรัน แพร์ซอน (Göran Persson) นายกรัฐมนตรี เยือนไทย อย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล
- วันที่ 16 - 17 มกราคม 2548 นายเยอรัน แพร์ซอน (Göran Persson) นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีกลุ่มประเทศนอร์ดิก (นอร์เวย์และฟินแลนด์) เยือนไทย อย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อประเมินสถานการณ์เหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติคลื่นยักษ์สึนามิที่บริเวณจังหวัดภาคใต้ของไทย
- วันที่ 3 –- 4 เมษายน 2551 นายกุนนาร์ วีสลันเดอร์ (Gunnar Wieslander) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบด้านการค้า เยือนไทย
- วันที่ 15 มกราคม 2552 นายกุนนาร์ วีสลันเดอร์ (Gunnar Wieslander) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบด้านการค้า เยือนไทย
- วันที่ 24 - 26 เมษายน 2555 นายคาร์ล บิลด์ท (Carl Bildt) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดนเยือนประเทศไทยและได้หารือข้อราชการกับนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเข้าเยี่ยมคารวะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
- วันที่ 24 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม 2556 นายเฟรดริก ไรน์เฟลด์ท (Fredrik Reinfeldt) นายกรัฐมนตรี เยือนไทย เป็นการส่วนตัว
- วันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2556 นายแฟรงค์ เบลฟราช (Frank Belfrage) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมความร่วมมือไทย-สวีเดน (Joint Cooperation Committee: JCC)
- วันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2556 นางอินเจลา เบนโดรต (Ingela Bendrot) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงผู้ประกอบการ  พลังงาน และการสื่อสาร (ด้านโครงสร้างพื้นฐาน) เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมงานสัมมนา SymbioCity Forum: Future Challenges for Urban Transport Seminar
 

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสวีเดนที่สามารถค้นหาได้ทาง Internet
1. www.ud.se.
2. www.swedeninfo.com

8 ส.ค. 2557

กองยุโรป 2 กรมยุโรป โทร. 0-2643-5133-4 Fax. 0-2643-5132 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-20140808-110053-277019.doc