วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ธ.ค. 2552
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐชาด
Republic of Chad
ชื่อทางการสาธารณรัฐชาด (Republic of Chad)
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ตอนกลางของทวีปแอฟริกา ไม่มีทางออกทะเล มีอาณาเขต
ทิศตะวันตกติดกับแคเมอรูน ไนจีเรีย และไนเจอร์
ทิศเหนือติดลิเบีย
ทิศตะวันออกติดกับซูดาน
ทิศใต้ติดกับสาธารณรัฐแอฟริกากลาง
พื้นที่ 1,284,000 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวงกรุงเอ็นจาเมนา (NDjamena)
เมืองสำคัญอื่น ๆ เมือง Moundou Sarh Bongor Abeche และ Doba
ภูมิอากาศ อากาศแบบร้อนและมีฝนตกมากทางตอนใต้ แต่ในช่วง เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนจะไม่มีฝน ทางภาคเหนือจะมี อากาศแบบทะเลทราย ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 744 มิลลิเมตรต่อปี
ข้อมูลเกี่ยวกับประชากร
ประชากร 10.9 ล้านคน (2551)
ภาษาราชการ ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ ภาษาพื้นเมือง ได้แก่ Sara และ Sango ทางตอนใต้
ศาสนา ศาสนาอิสลามร้อยละ 53.1 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 35
หน่วยเงินตรา ฟรังก์เซฟา (CFAfr) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ประมาณ 13.17 CFAfr (พฤศจิกายน 2552)
ระบอบการปกครอง แบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Idriss Deby (เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2533 และชนะการ เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2549)
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ฝรั่งเศสได้ถือเอาชาดเป็นรัฐในอารักขาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2443 และต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2451 ชาดถูกรวมเข้ากับดินแดน Equatorial Africa ของฝรั่งเศส และเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2501 ได้กลายเป็นสาธารณรัฐเอกเทศภายในประชาคมฝรั่งเศส และได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2503
ในช่วง 30 ปีต่อมา ชาดต้องประสบกับปัญหาสงครามกลางเมืองหลายครั้ง รวมถึงการบุกรุกดินแดนโดยลิเบีย และกลุ่มกบฏที่ดำเนินการก่อความไม่สงบอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา เมื่อนาย Deby สถาปนาตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี และได้ยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2539 และปี 2544
อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 ได้มีกลุ่มกบฏใหม่เกิดขึ้นทางชายแดนฝั่งตะวันตกของซูดาน และดำเนินการก่อความไม่สงบทางภาคตะวันออกของชาด ปัจจุบัน อำนาจทางการเมืองของประเทศยังคงตกอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยของประเทศ และมีกลุ่มกบฏอีกหลายกลุ่มที่ยังคงปฏิบัติการอยู่ทั่วไป ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศมีต้นเหตุมาจากความแตกต่างทางด้านเผ่าพันธุ์และความเชื่อ โดยทางภาคเหนือเป็นถิ่นของชาวอาหรับมุสลิม ในขณะที่ภาคใต้เป็นของชาวคริสต์และพวกที่นับถือความเชื่อท้องถิ่น
นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
1.การเมืองการปกครอง
1.1 ชาดปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี มีอำนาจในการเสนอชื่อแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศ ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วยรัฐสภาระบบสองสภา มีสมาชิกสภา 155 คน มาจากการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ในขณะที่วุฒิสมาชิกดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี มีการเลือกตั้งทุกๆ 2 ปี เพื่อทดแทนสมาชิก 1 ใน 3 ส่วนของสภาที่พ้นหน้าที่ ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลสูง ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา และศาลแขวง
1.2 ประธานาธิบดี Idriss Deby ซึ่งได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยการทำรัฐประหารในปี 2533 ได้ปกครองประเทศเรื่อยมา ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน 2548 ประธานาธิบดี Idriss Deby ได้จัดให้มีการลงประชามติเพื่อปรับแก้รัฐธรรมนูญซึ่งยังผลให้ตนสามารถสมัครลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีต่อได้เป็นสมัยที่ 3 และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีต่อมา และดำรงตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางกระแสคัดค้านของพวกกบฏที่ยังคงใช้ความรุนแรงในความพยายามโค่นล้มรัฐบาล
2.เศรษฐกิจ
2.1 การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของชาดประสบปัญหาอย่างมากจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ห่างไกล ไม่มีทางออกทะเล พื้นที่ส่วนมากของประเทศมีความแห้งแล้ง มีต้นทุนด้านพลังงานสูง
2.2 ชาดเป็นประเทศเกษตรกรรมโดยพื้นฐาน ประชาชนของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการปศุสัตว์ในการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ชาดได้ถูกผลักดันจากต่างประเทศในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยได้รับการช่วยเหลือการลงทุนจากต่างประเทศทั้งกิจการสาธารณะและภาคเอกชน บริษัทจากสหรัฐอเมริกาได้เข้าลงทุนในการพัฒนาน้ำมันสำรอง ประมาณ 1 ล้านล้านบาร์เรลในทางตอนใต้ของประเทศ น้ำมันสำรองรวมทั้งประเทศประมาณ 2 ล้านล้านบาร์เรล ผลิตภัณฑ์น้ำมันของชาดเริ่มมีการส่งออกในปี 2546 ซึ่งชาดไม่ได้รับกำไรจากการส่งออกน้ำมันเท่าใดนัก
2.3 นอกจากน้ำมันแล้ว ชาดมีทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ทอง และยูเรเนียม แม้ว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีจะนำรายได้จำนวนมากเข้าสู่ประเทศ ประชาชนของประเทศยังคงประสบกับปัญหาความยากจนและโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ตลอดจนภาวะความไม่สงบที่เกิดจากการดำเนินการของกลุ่มกบฏต่างๆ ในประเทศ
2.3 สินค้าส่งออกของชาดที่สำคัญได้แก่ ฝ้าย โคและกระบือ ยางอารบิก
3. นโยบายต่างประเทศ
3.1 สถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคแอฟริกากลางส่งผลอย่างยิ่งต่อสถานะของชาดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชาดต้องรับภาระผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในสาธารณรัฐแอฟริกากลางและซูดาน ทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ยังคงอยู่ในระดับเสื่อมทรามกับกับซูดาน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันออกซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันยาวที่สุดถึง 1,360 กิโลเมตร ทั้งสองประเทศกล่าวหากันและกันว่าให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาล ล่าสุด ชาดได้ปิดพรมแดนและตัดความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับซูดาน เพื่อตอบโต้การที่ซูดานตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับชาดในปี 2549
3.2 ในปี 2550 สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติให้กองกำลังรักษาสันติภาพร่วมแห่งสหประชาชาติและสหภาพยุโรป (UN-European Union peacekeeping force) ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนจากผลกระทบของการสู่รบในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน ต่อมา ในเดือนมกราคม 2551 สหภาพยุโรปได้เห็นชอบให้จัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในดาร์ฟูร์
3.3 ความสัมพันธ์ระหว่างชาดกับฝรั่งเศสยังคงเป็นไปด้วยดี ที่ผ่านมา ฝรั่งเศสได้ส่งกองกำลังเข้ามาช่วยปราบปรามกลุ่มกบฏ และให้ความช่วยเหลือชาดในด้านต่างๆ อยู่เสมอ
34 การที่ชาดผันตัวมาเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ทำให้ต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในชาดมากขึ้น รัฐบาลชาดเองก็ได้ปรับกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนและค้าขายน้ำมันให้มีความผ่อนปรนมากขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ
ข้อมูลเศรษฐกิจทั่วไป ปี 2551
ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -0.2
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ไทยและชาดสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2533 ที่ผ่านมา ไทยเคยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นจุดติดต่อ ปัจจุบัน ไทยได้มอบหมายให้ สอท ณ กรุงตริโปลี มีเขตอาณาครอบคลุมชาด ส่วนชาดยังได้แต่งตั้งนายวุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐชาดประจำประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ยังมิได้มีการมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตใดมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย
1.2 เศรษฐกิจ
ในปี 2551 ไทยและชาดมีมูลค่าการค้ารวม 5.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 1.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 4.93 ดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้า -3.91 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มูลค่าการค้ารวมลดลงจากปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 14.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 6.4 แสนดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 13.42 ดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้า -12.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกของไทยไปยังชาด ได้แก่ เคหะสิ่งทอ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง แผงวงจรไฟฟ้า ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อและผ้าที่จัดทำแล้ว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากชาด ได้แก่ ด้ายและเส้นใย สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
2.ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ยังไม่มีการทำความตกลงใดๆ ระหว่างกัน
3.การเยือนที่สำคัญ
ไม่ปรากฏข้อมูลการเยือนระหว่างไทยกับชาด
*********************************
พฤศจิกายน 2552
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2035 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **