ราชอาณาจักรเลโซโท

ราชอาณาจักรเลโซโท

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ธ.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 10,297 view


ราชอาณาจักรเลโซโท
Kingdom of Lesotho

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง   เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ถูกล้อมรอบด้วยดินแดนของประเทศแอฟริกาใต้ สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง

พื้นที่  30,344 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงมาเซรู (Maseru)

ประชากร 2.2 ล้านคน (ปี 2554)

ประกอบด้วยชนเผ่า Sotho ร้อยละ 99.7 ชาวยุโรป เอเชียและอื่น ๆ     ร้อยละ 0.3

ภูมิอากาศ ในฤดูร้อนมีอากาศอบอุ่นและมีฝนตกทั่วประเทศ ในฤดูหนาวมีอากาศเย็น และมีหิมะในเขตที่ราบสูงบางพื้นที่

ภาษา  ภาษาอังกฤษ และภาษาเซโซโท (Sesotho)

ศาสนา ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 80 ความเชื่อแบบดั้งเดิม ร้อยละ 20

หน่วยเงินตรา  มาโลติเลโซโท (Lesotho Maloti - LSL)

อัตราแลกเปลี่ยน 1 มาโลติเลโซโท เท่ากับประมาณ 4.39 บาท

(ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2554)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 1, 425.0 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 4.0 (ปี 2554)

ระบอบการปกครอง  ประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข (Parliamentary Constitutional Monarchy) และมีนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 (King Letsie III) (ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 (ค.ศ. 1996) ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระราชบิดา คือ สมเด็จพระราชาธิบดีโมโชโชที่ 2 (Moshoeshoe II) ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 ทรงเคยขึ้นครองราชย์มาแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2533 (ค.ศ. 1990) - กุมภาพันธ์ 2538 (ค.ศ. 1995) ขณะที่พระราชบิดาทรงอยู่ระหว่างการลี้ภัยทางการเมือง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายเบธทูเอล พากาลิทา โมซิซิลิ (Bethuel Pakalitha Mosisili) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2550 (ค.ศ. 2007) เป็นสมัยที่ 3)

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การเมืองการปกครอง

เลโซโทปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ แต่ไม่มีอำนาจทางการบริหารและนิติบัญญัติ เป็นเพียงสัญลักษณ์ของความปรองดองแห่งชาติ (a living symbol of national unity) และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม (ตามรัฐธรรมนูญระบุให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้นำรัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี (ตามวาระของรัฐสภา) คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสองสภา ประกอบด้วยสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจำนวน 120 ที่นั่ง (ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 80 ที่นั่ง และแบบสัดส่วน 40 ที่นั่ง) มีวาระ 5 ปี และสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 33 ที่นั่ง (ผู้นำท้องถิ่น 22 ที่นั่ง บุคคลได้รับการแต่งตั้ง จากพรรครัฐบาล 11 ที่นั่ง) ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลสูง ศาลอุทธรณ์ ศาลปกครอง และศาลประเพณี

เลโซโท (เดิมเรียกว่า บาซูโทแลนด์ หรือ Basutholand) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2361 (ค.ศ. 1718) โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีโมชูชูที่ 1 (Moshoeshoe I) เป็นผู้ปกครอง ต่อมา ถูกแอฟริกาใต้รุกรานจนต้องขอรับความคุ้มครองจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ส่งผลให้มีสถานะเป็นรัฐในปกครองของสหราชอาณาจักร (British Protectorate of Basutholand) ตั้งแต่ปี 2411 (ค.ศ. 1868) ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2509 (ค.ศ. 1956) ได้ประกาศเอกราชและเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเลโซโท

ราชอาณาจักรเลโซโทเป็นหนึ่งในสามของประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (อีก 2 ประเทศ คือ ราชอาณาจักรโมร็อกโก และราชอาณาจักรสวาซิแลนด์) และต้องเผชิญกับสภาวะความไม่สงบและความวุ่นวายทางการเมืองอันเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มชนชั้นปกครอง แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นระยะ ๆ แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพได้ มีการชุมนุมประท้วง และกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจน

เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อเลโซโทมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 พฤษภาคม 2541 (ค.ศ.1998) ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรค Lesotho Congress for Democracy (LCD) ซึ่งแตกออกจากพรรค Basutho Congress Party (BCP) ที่เป็นพรรครัฐบาลเดิม ได้ 79 ที่นั่งจาก 80 ที่นั่ง แต่ฝ่ายที่แพ้ได้ประท้วงผลการเลือกตั้งและระดมประชาชนชุมนุมประท้วง การชุมนุมยืดเยื้อจนกระทั่งรัฐบาลเลโซโทไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ รัฐบาลจึงตัดสินใจขอรับความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิกประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community - SADC) แอฟริกาใต้และบอตสวานาได้ส่งกองกำลังทหารจำนวน 3,500 คน เข้าไปควบคุมสถานการณ์ในเลโซโท และผู้แทนจากประเทศสมาชิก SADC ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมเจรจากับพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านของเลโซโท เพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งทางการเมือง ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม 2541 (ค.ศ. 1998) พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านของเลโซโทได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ภายใน 15-18 เดือน และขอให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ต่อมา ได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2545 (ค.ศ. 2002) ซึ่งผลปรากฏว่า พรรค LCD ได้รับชัยชนะโดยได้ที่นั่งในสภาทั้งหมด 77 ที่นั่ง จากที่นั่งทั้งหมด 120 ที่นั่ง และได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลนายเบธทูเอล พากาลิทา โมซิซิลิ (Bethuel Pakalitha Mosisili) หัวหน้าพรรค ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นวาระที่ 2 และดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 5 ปี

เลโซโทจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2550 (ค.ศ. 2007) ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 6 ของประเทศ พรรค LCD ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลนำโดยนายโมซิซิลิ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยได้ที่นั่ง 61 ที่นั่งจาก 79 ที่นั่ง และนายโมซิซิลิสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้เป็นสมัยที่ 3 การเลือกตั้งดังกล่าวใช้ระบบที่เรียกว่า Mixed Member Proportional Model (MMP) ที่ยึดตามแนวทางของนิวซีแลนด์ ส่งผลให้รัฐสภาเลโซโทมีผู้แทนที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น การเลือกตั้งดังกล่าวได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่ามีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมและปราศจากซึ่งความรุนแรงใด ๆ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งหมดได้เข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 2 มีนาคม 2550 (ค.ศ. 2007)

รัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศวิสัยทัศน์ของประเทศคือ ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020)  เลโซโทต้องการจะเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยมั่นคง สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเจริญรุ่งเรือง อยู่อย่างสงบสุขทั้งภายในประเทศและกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจของประเทศที่เข้มแข็ง การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี

เศรษฐกิจ

เลโซโทมีลักษณะภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 – 3,350 เมตร ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ตามแนวของแม่น้ำคาเลดอน (Caledon) ซึ่งเป็นบริเวณที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมากที่สุด เลโซโทมีสภาพแวดล้อมค่อนข้างเปราะบาง ส่งผลให้ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย อาทิ การเสื่อมสภาพของหน้าดิน การพังทลายของร่องน้ำ การตัดไม้ทำลายป่า การเสื่อมโทรมของพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากแรงกดดันจากจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น (Population Pressure) ต่อพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ดี เลโซโทมีแหล่งแร่เพชรจำนวนมาก

ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่เกษตรกรรม เศรษฐกิจของเลโซโทจึงขึ้นอยู่กับการเกษตรแบบยังชีพ การเลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การแปรรูปอาหาร และการก่อสร้าง รัฐบาลเลโซโทมีนโยบายการค้าแบบเสรีและส่งเสริมการลงทุน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ  การพัฒนาภาคเอกชนและอุตสาหกรรมภายในประเทศเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเลโซโทขึ้นอยู่กับพลวัตรทางการเมืองและเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้เป็นอย่างมาก รวมถึงกลุ่มประเทศสมาชิก SADC ด้วย นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง และการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม จะเป็นปัจจัยบวกต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของเลโซโทเช่นกัน

แม้รายได้ประชาชาติต่อหัวของเลโซโทจะไม่มากนัก แต่ประชาชนเลโซโทมีอัตราการรู้หนังสือสูงถึงกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลเลโซโทและหน่วยงานระหว่างประเทศอื่น ๆ ให้ความสำคัญในการลงทุนด้านการศึกษา โดยรัฐบาลได้ริเริ่มนโยบายสนับสนุนการศึกษาระดับประถมศึกษา (Primary Education) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเมื่อปี 2543 (ค.ศ. 2000) อย่างไรก็ตาม เลโซโทยังเป็นประเทศที่มีอัตราผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS มากกว่า ร้อยละ 30 ส่งผลให้อัตราการเจริญพันธุ์และอายุเฉลี่ยของประชากรมีแนวโน้มลดลง

นโยบายต่างประเทศ

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของเลโซโทคือ ความสัมพันธ์กับแอฟริกาใต้ เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ถูกล้อมรอบด้วยแอฟริกาใต้ แต่ในช่วงปี 2503-2523 (ทศวรรษ ที่ 60 - 80) ความสัมพันธ์ระหว่างเลโซโทกับแอฟริกาใต้ค่อนข้างตึงเครียดเนื่องจากปัญหาบริเวณชายแดน ต่อมาทั้งสองฝ่ายได้หันมาใช้นโยบายพัฒนาประเทศเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยตกลงจัดทำโครงการ Highlands Water Project (HWP) สร้างเขื่อนและอุโมงค์ส่งน้ำจากเลโซโทไปแอฟริกาใต้ ใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น 30 ปี แบ่งขั้นตอนดำเนินการออกเป็น 5 ระยะ เริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ 2529 (ค.ศ. 1986)  ซึ่งรัฐบาลเลโซโทได้ เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติและบริษัทก่อสร้างทั่วโลกมาประมูลโครงการนี้ ภายใต้โครงการดังกล่าวเลโซโทจะขายน้ำให้แอฟริกาใต้ โดยได้ผลตอบแทนประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

รัฐบาลเลโซโทสนับสนุนการปฏิรูปสหประชาชาติ และการดำเนินการตามแนวทางความเป็นหุ้นส่วนใหม่เพื่อการพัฒนาแอฟริกา (The New Partnership for Africa‘s Development - NEPAD) เพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหาด้านการพัฒนาของประเทศในแอฟริกา นอกจากนี้ รัฐบาลเลโซโทยังสนับสนุนความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาคมโลกร่วมมือกันในการแก้ปัญหาโรคร้ายแรงต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคเอดส์ ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาประสบอยู่ในปัจจุบัน

เลโซโทเป็นสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ ประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ สหภาพศุลกากรแอฟริกาใต้ (Southern African Custom Union – SACU) สหภาพแอฟริกา (African Union – AU) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา G-77 ในสหประชาชาติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency – IAEA) กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement – NAM) กลุ่มประเทศ New Asian – African Strategic Partnership (NAASP) เป็นต้น

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทั่วไป

การทูต

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเลโซโทเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2532 (ค.ศ. 1989) โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมเลโซโท เอกอัครราชทูตไทยประจำราชอาณาจักรเลโซโท ถิ่นพำนัก ณ กรุงพริทอเรีย คนปัจจุบันคือ นายนนทศิริ บุรณศิริ ส่วนเลโซโทเคยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตเลโซโทประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อปี 2553 (ค.ศ. 2010) จึงได้ปรับเปลี่ยนให้สถานเอกอัครราชทูตเลโซโทประจำมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทยแทน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเลโซโทประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์  คนปัจจุบันคือ นางสาวอึนเซเบ อิดเลตต์ โคโคเม (Ntsebe Idlett Kokome) และเคยแต่งตั้งนายรณพงษ์ คำนวณทิพย์ ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์เลโซโทประจำประเทศไทย (ปัจจุบัน นายรณพงษ์ฯ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ แล้ว และฝ่ายเลโซโทกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ คนใหม่)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เลโซโทเป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาระหว่างกัน และเลโซโทให้การสนับสนุนไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมาโดยตลอด ล่าสุด เลโซโทสนับสนุนไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาบริหารสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union – ITU Council) วาระปี ค.ศ. 2011-2014

เศรษฐกิจ

การค้าระหว่างไทยและเลโซโทยังมีปริมาณค่อนข้างน้อย โดยในปี 2554 (ค.ศ. 2011) มีมูลค่าการค้ารวม 0.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 0.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเลโซโท 0.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 0.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลักของไทยไปเลโซโท อาทิ ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์ สินค้านำเข้าหลักของไทยได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีการลงทุนระหว่างกัน

อุปสรรคของความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและเลโซโทที่สำคัญคือ การขาดข้อมูลด้านการค้า-การลงทุน และกฎระเบียบ กอปรกับความไม่คุ้นเคยระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่มั่นใจที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินธุรกิจหรือลงทุนร่วมกัน

ความร่วมมือทางวิชาการ

ตั้งแต่ปี 2542 (ค.ศ. 1999) เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้จัดให้เลโซโทเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในโครงการหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course – AITC) ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ให้ทุนฝึกอบรมและดูงาน   ในหลักสูตรระยะสั้นต่าง ๆ อาทิ Integrated Watershed Management; Tourism Management; Prevention, Resuscitation and Rehabilitation in Traumatic Injury; A Nursing Perspective; Sufficiency Economy และ Grassroots Economic Development with One Tambon One Product (OTOP)

เลโซโทประสบปัญหาการผลิตอาหารที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากแรงกดดันของจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น เลโซโทจึงมีความสนใจที่จะเรียนรู้และขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรจากไทย ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย-เลโซโท มีพัฒนาการและมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่โอกาสที่สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 และสมเด็จพระราชินีฯ เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลไทย เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อเดือนมิถุนายน 2549  (ค.ศ. 2006) โดยภายหลังงานพระราชพิธี ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ เยือนจังหวัดเชียงใหม่เป็นการส่วนพระองค์ และได้เสด็จฯ เยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่

ในปี 2549 (ค.ศ. 2006) ไทยได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรอย่างใกล้ชิดกับเลโซโท โดยเฉพาะความร่วมมือทางวิชาการตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีโครงการหลักได้แก่ “โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านดิน ด้านพืช และด้านป่าไม้ของไทยไปปฏิบัติงานจำนวน 3 คน โดยมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในประเทศไทย

ความตกลงที่สำคัญกับไทย

ยังไม่มีความตกลงระหว่างกัน

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

- วันที่ 6-7 ตุลาคม 2554 (ค.ศ. 2011) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสวาซิแลนด์อย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- วันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 (ค.ศ. 2005) นายวีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเลโซโท และได้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรีเลโซโท เพื่อมอบหนังสือกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระราชาธิบดีและพระชายาแห่งเลโซโทเข้าร่วมงานเฉลิมฉลอง    การครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2549 (ค.ศ. 2006) และในโอกาสนี้ ได้เข้าพบนายโมบอตเซ เลโรโทริ (Mabotse Lerotholi) ราชเลขาธิการในสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเลโซโทด้วย

ฝ่ายเลโซโท

พระราชวงศ์

- วันที่ 12-13 มิถุนายน 2549 (ค.ศ. 2006) สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 และสมเด็จพระราชินีฯ เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลไทย เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และวันที่ 14-17 มิถุนายน 2549  (ค.ศ. 2006) เสด็จฯ เยือนจังหวัดเชียงใหม่เป็นการส่วนพระองค์ และได้เสด็จฯ เยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้    จ.เชียงใหม่

นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- วันที่ 22-27 มีนาคม 2547  (ค.ศ. 2004)นายเลเซา เลโอลา (Lesao Lehohla) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมโครงการดูงานด้านการศึกษาของไทยและมาเลเซีย ซึ่งจัดโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) และกระทรวงศึกษาธิการ

 

************************

มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ