วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐนามิเบีย
Republic of Namibia
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกในแอฟริกาตอนใต้ ทิศเหนือมีพรมแดนติด แองโกลาและแซมเบีย ทิศตะวันออกติดบอตสวานา แอฟริกาใต้และซิมบับเว ทิศใต้ติดแอฟริกาใต้ ทิศตะวันตกติดมหาสมุทรแอตแลนติก
พื้นที่ 824,269 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงวินด์ฮุก (Windhoek)
ประชากร 2.3 ล้านคน (ปี 2554) ประกอบด้วยชนเผ่า Ovambo ร้อยละ 50 Kavangos ร้อยละ 9 Herero ร้อยละ 7 Damara ร้อยละ 7 และเผ่าอื่นๆ ร้อยละ 14.5
ภูมิอากาศ กึ่งทะเลทราย ร้อน แห้งแล้ง และมีฝนตกชุกในบางพื้นที่
ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ
ศาสนา คริสต์ ร้อยละ 80-90 (ส่วนใหญ่เป็นนิกายลูเธอร์แรน) ความเชื่อดั้งเดิม ร้อยละ 10-20
หน่วยเงินตรา ดอลลาร์นามิเบีย (Namibian Dollar - NAD) อัตราแลกเปลี่ยน 1 NAD เท่ากับ 3.84 บาท (ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2555)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 13.20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 7,276.0 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 4.2 (ปี 2554)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบสองสภา โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุข ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเป็นผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายฮิฟิเกพุนเย ลูคัส โพฮัมบา (Hifikepunye Lucas Pohamba) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552 เป็นสมัยที่สอง) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายนาฮาส กิเดียน อังกูลา (Nahas Gideon Angula) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548)
การเมืองการปกครอง
นามิเบียปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เป็นประมุข ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาล คณะรัฐมนตรีได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสองสภา ประกอบด้วยสมาชิกคณะมนตรีแห่งชาติจำนวน 26 ที่นั่ง (คัดเลือกจากสมาชิกคณะมนตรีแห่งภูมิภาค 13 ภูมิภาค ๆ ละ 2 ที่นั่ง โดยสมาชิกคณะมนตรีแห่งภูมิภาคมาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 6 ปี) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 72 ที่นั่ง ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 5 ปี ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลสูงสุดเพียงศาลเดียว โดยที่ผู้พิพากษามาจากการเสนอชื่อของคณะกรรมการตุลาการ และแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
นามิเบียเคยตกเป็นอาณานิคมของสหพันธรัฐเยอรมนีเมื่อปี 2427 (ค.ศ.1884) และเป็นที่รู้จักในนาม German South-West Africa (ยกเว้นเขต Walvis Bay ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร) โดยเป็นความพยายามในการลดทอนการแผ่ขยายอำนาจของสหราชอาณาจักรในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ ต่อมา ในช่วงปี 2447-2450 (ค.ศ.1904-1907) ชาว Herero และ Nama ได้ร่วมกันต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม จนนำไปสู่การสังหารล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นชาว Herero กว่า 10,000 คน และ ชาว Nama อีกเกือบ 100,000 คน (รวมแล้วมีจำนวนกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในขณะนั้น) ภายหลังจากที่สหพันธรัฐเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 นามิเบียจึงตกเป็นเขตปกครองของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
ในปี 2509 (ค.ศ.1966) กลุ่ม South-West Africa People’s Organisation (SWAPO) และ กลุ่ม People’s Liberation Army of Namibia (PLAN) ทำสงครามเพื่ออิสรภาพกับกองกำลังของแอฟริกาใต้ สงครามดังกล่าวยืดเยื้อไปจนถึงปี 2531 (ค.ศ.1988) เมื่อแอฟริกาใต้ยอมรับแผนสันติภาพในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ของสหประชาชาติ นามิเบียได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533 (ค.ศ.1990) และต่อมา ได้ควบรวมกับเขต Walvis Bay ภายหลังจากการสิ้นสุดนโยบายการแบ่งชนชั้น Apartheid ในแอฟริกาใต้เมื่อปี 2537 (ค.ศ.1994)
หลังจากที่แอฟริกาใต้ถอนกำลังออกจากนามิเบีย สหประชาชาติได้เข้ามากำกับดูแลการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2532 (ค.ศ.1989) ผลปรากฏว่า SWAPO ได้รับเสียงข้างมาก กว่าร้อยละ 57 ซึ่งน้อยกว่า การคาดการณ์ของหลายฝ่าย ส่วนหนึ่งเนื่องจากพรรค Democratic Turnhalle Alliance (DTA) พรรคคู่แข่งหลัก ได้รับการสนับสนุนในทางลับจากแอฟริกาใต้ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เคยมีส่วนร่วมในการปกครองนามิเบียในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของแอฟริกาใต้ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างกัน ทั้งสองพรรคได้ร่วมให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในประเด็นอำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จของประธานาธิบดี และมีมติเอกฉันท์ให้ นายแซม นูโจมา (Sam Nujoma) หัวหน้าพรรค SWAPO ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของ นามิเบีย ซึ่งต่อมา ประธานาธิบดีนูโจมาลงสมัครและชนะการเลือกตั้งในปี 2537 และ 2542 และพรรค SWAPO ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมาโดยตลอด
นายฮิฟิเกพุนเย ลูคัส โพฮัมบา (Hifikepunye Lucas Pohamba) จากพรรค SWAPO ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 (ค.ศ.2004) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยแรกต่อจากนายนูโจมา ซึ่งปัจจุบันนี้ ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและยังคงมีบทบาทสำคัญในพรรค SWAPO อยู่มาก ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม 2548 นายโพฮัมบาได้เลือกบุคคลที่เคยอยู่ในคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของนายนูโจมาหลายคนให้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี เพื่อลดความแตกแยกภายในพรรค SWAPO และได้ดำเนินนโยบายปราบปรามคอรัปชั่นอย่างเต็มที่เพื่อเรียกคะแนนนิยมให้แก่รัฐบาลของตน
นโยบายการกระจายที่ดินทำกินให้แก่คนพื้นเมือง
นามิเบียเป็นประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาที่ประสบกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการถือครองที่ดิน ในช่วงการได้รับเอกราช คนผิวขาวประมาณ 4,500 คน ถือครองที่ดินในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 37 ของที่ดินทั้งหมดของประเทศ รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายซื้อที่ดินจากคนผิวขาวเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ชาวพื้นเมืองซึ่งเป็นคนผิวดำ โครงการปฏิรูปที่ดินดังกล่าวมีความแตกต่างจากกรณีของซิมบับเวอย่างชัดเจน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ที่รัฐบาลซื้อคืนนั้น อยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และรัฐบาลยึดมั่นในหลักกฎหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรักษาขีดความสามารถทางด้านปศุสัตว์ของประเทศเอาไว้อย่างต่อเนื่อง
เงินกู้ยืมเพื่อสนับสนุนโครงการปฏิรูปที่ดิน
ตัวเลขสถิติของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า อัตราการซื้อคืนที่ดินบนพื้นฐานของความสมัครใจของผู้ซื้อและผู้ขายนั้น สูงและดำเนินไปด้วยความล่าช้า นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวหาว่า รัฐบาลเลือกที่จะซื้อคืนที่ดินในเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการแสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบัน ที่ดินทำกินประมาณ 1 ใน 5 ของนามิเบียซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครองของชาวนามิเบียพื้นเมืองผิวดำ เป็นที่ดินที่ได้จากการซื้อคืนโดยรัฐบาล และเป็นที่ดินส่วนใหญ่ที่ซื้อคืนภายใต้โครงการเงินช่วยเหลือที่เรียกว่า Affirmative Action Loan Scheme (AALS) ซึ่งบริหารจัดการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรนามิเบีย จึงมีการกล่าวหาจากพรรคฝ่ายค้านว่า ผู้มีอำนาจในรัฐบาลและชนชั้นนำของประเทศอาศัยข้อได้เปรียบในการเป็น “ผู้ด้อยโอกาสในอดีต” (previously disadvantaged) ในการสมัครเพื่อรับสิทธิประโยชน์และเงินกู้ยืมตามโครงการ AALS
เศรษฐกิจและสังคม
นโยบายการลดความยากจนและการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ
เป้าหมายทางเศรษกิจของนามิเบียนับตั้งแต่ที่ได้รับเอกราชคือ การขยายการจ้างงาน การสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาเศรษฐกิจในภาคปฐมภูมิ (primary sector) โดยการกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมภาคการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติของนามิเบียก่อนการส่งออก รวมถึงอุตสาหกรรมทางด้านการท่องเที่ยวและภาคการเงิน และตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลนามิเบียให้ความสำคัญกับโครงการลดความยากจนและขยายการมีส่วนร่วมทางธุรกิจให้แก่ “ผู้ด้อยโอกาสในอดีต” ชาวนามิเบียที่มีจำนวนถึงร้อยละ 95
นโยบายการสนับสนุนให้คนผิวดำมีส่วนร่วมทางธุรกิจ (Black Economic Empowerment - BEE)
โดยทั่วไป รัฐบาลมิได้เข้ามาแทรกแซงทางเศรษฐกิจและมิได้มีการกำหนดขอบเขตขั้นต่ำในการมี ส่วนร่วมของคนผิวดำและการเป็นเจ้าของในธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ในภาคการประมง ได้มีการกำหนดสัดส่วนการมีส่วนร่วมของชาวพื้นเมืองเพื่อเป็นเงื่อนไขไปสู่การได้รับใบอนุญาตทำการประมงในนามิเบียแล้ว และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของชาวพื้นเมืองมากยิ่งขึ้น รัฐบาลมองว่า BEE มิได้เป็นเพียงแค่กลไกในการปรับโครงสร้างความไม่เท่าเทียมในการเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ยังเป็นยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงสังคมนามิเบียโดยการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ชาวพื้นเมืองด้วย โครงการนี้ประสบความล้มเหลวซึ่งอาจเป็นเพราะความผิดพลาดในการบริหารหรือการฉ้อโกง รัฐบาลนามิเบียถูกวิพากษ์ว่า คนผิวดำที่เป็นชนชั้นนำหรือมีความรู้จักคุ้นเคยกับรัฐบาลนามิเบียเท่านั้นเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการอย่างเต็มที่
นโยบายดึงดูดการลงทุนของนามิเบีย
ภายหลังได้รับเอกราช นามิเบียพยายามใช้นโยบายด้านภาษีและสิ่งจูงใจทางการเงินเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออกและการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยงานส่งเสริมการลงทุน (investment center) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุน อย่างไรก็ดี สิ่งจูงใจจากรัฐบาลออกมาในลักษณะทีละเล็กละน้อย มิได้ออกมาเป็น package จึงขาดการบูรณาการในภาพรวม ในปลายทศวรรษที่ 1990 (ประมาณปี 2530-2532) นามิเบียมีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 35 ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่เป็นที่จูงใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพราะประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน เช่น บอตสวานามีอัตราภาษีที่ต่ำกว่านามิเบีย คือ ประมาณร้อยละ 25
ภาคการบริการ โดยเฉพาะการบริการของรัฐและทางการเงิน เป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของนามิเบีย จากข้อมูลของ Economist Intelligence Unit (EIU) ในช่วงปี 2546-2550 ผลิตภัณฑ์ภาคการบริการมีมูลค่ามากกว่าร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) มาโดยตลอด ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 และ 30 ตามลำดับเท่านั้น แม้ว่าประชาชนกว่าร้อยละ 70 ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมก็ตาม ผลผลิตของภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากปัญหาความแห้งแล้งบ่อยครั้ง และระบบชลประทานที่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ
นอกจากภาคการบริการแล้ว อุตสาหกรรมเหมืองแร่ก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของนามิเบียเช่นกัน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ นามิเบียมีแหล่งแร่มากมายหลายชนิดทั่วทั้งประเทศ มีแหล่งแร่เพชรทางด้านใต้-ตะวันตก และบริเวณนอกชายฝั่งทะเล นามิเบียส่งออกแร่ยูเรเนียมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นอกจากนี้ ยังมีแหล่งแร่สังกะสี ทองแดง ทองคำ รวมทั้งก๊าซธรรมชาติ จำนวนมาก ดังนั้น การขึ้น-ลงของราคาแร่เหล่านี้ในตลาดโลกมีผลอย่างมากต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของนามิเบียในภาพรวม
อุตสาหกรรมการประมงมีศักยภาพมาก เนื่องจากนามิเบียมีแนวชายฝั่งเป็นระยะทางถึง 1,600 กม. แต่ได้รับผลกระทบจากภาวะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรและอัตราการจับปลาที่สูงเกินไปภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม แต่โดยมากยังคงเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม แม้ว่าความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาพอสมควรแล้ว และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งตลาดต่างประเทศและในภูมิภาค จะมีส่วนช่วยพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของนามิเบียให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่การขาดแคลนแรงงานคุณภาพ ตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก และอัตราค่าขนส่งภายในประเทศที่สูง ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ
ในภาพรวม นามิเบียเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจสูง โดยมีระดับการพัฒนาเป็นลำดับที่ 2 รองจากแอฟริกาใต้ในอนุภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ นอกจากนี้ นามิเบียยังเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ เป็นประเทศผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำคัญ และมีศักยภาพที่จะเป็นฐานการประกอบธุรกิจและการลงทุนในอนาคตของนักลงทุนต่างชาติในอนุภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้
นโยบายต่างประเทศ
ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
แอฟริกาใต้ ความสัมพันธ์เป็นไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนามิเบียต้องพึ่งพาแอฟริกาใต้ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แม้ว่านโยบายต่างประเทศของนามิเบียและแอฟริกาใต้ไม่สอดคล้องกันในบางประการ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ยังคงดำเนินไปด้วยดี
แองโกลา ความสัมพันธ์ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก เนื่องจากในปี 2536 กลุ่ม National Union for the Total Independence of Angola (UNITA) ซึ่งในอดีตเป็นกลุ่มกำลังต่อต้านรัฐบาลแองโกลาที่นำโดยพรรค Popular Movement for the Liberation of Angola (MPLA) และปัจจุบัน กลายมาเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด กล่าวหาว่า กองกำลังของนามิเบียได้เคยข้ามชายแดนภาคใต้ของแองโกลาเข้าไปช่วยรัฐบาลแองโกลาในสมัยนั้น ต่อสู้กับ UNITA แต่นามิเบียปฏิเสธ ในปี 2537 เกิดการต่อสู้ที่บริเวณชายแดนนามิเบีย-แองโกลา จนกระทั่งนามิเบียประกาศปิดพรมแดน ต่อมา ในปี 2539 ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ที่จะเพิ่มมาตรการรักษา ความปลอดภัยบริเวณชายแดนร่วมกัน
บอตสวานา ความสัมพันธ์ราบรื่นดี จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2539 มีข้อขัดแย้งเรื่องการปักปันเขตแดนบริเวณแม่น้ำโชเบ
ซิมบับเว จากประสบการณ์ร่วมกันในเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชทำให้ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดี โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างพรรค SWAPO ของนามิเบียและ พรรค Zimbabwe African National Union – Patriotic Front (ZANU-PF) ของซิมบับเว ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของทั้งสองประเทศ รวมทั้งนายนูโจมา ประธานาธิบดีนามิเบียเอง ก็มีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิดกับนายโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) ประธานาธิบดีซิมบับเวอย่างยิ่ง นอกจากนั้น รัฐมนตรีจากพรรค SWAPO บางคนยังให้การสนับสนุนนโยบายการเข้ายึดครองที่ดินของรัฐบาลซิมบับเวอย่างเต็มที่ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งสองประเทศยังร่วมกันส่งกองกำลังไปให้การสนับสนุนประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในการต่อสู้กับกลุ่มกบฎเมื่อปี 2538
ความสัมพันธ์ในกรอบเวทีพหุภาคี
นามิเบียเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ องค์การสหประชาชาติ กลุ่ม G-77 กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-aligned Movement - NAM) สหภาพแอฟริกา (African Union - AU) สหภาพศุลกากรแอฟริกาใต้ (Southern African Customs Union - SACU) ประชาคมด้านการพัฒนาแห่งภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community - SADC)
ความสัมพันธ์ทั่วไป
การทูต
ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับนามิเบียเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2533 (ค.ศ.1990) และไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมนามิเบีย เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐนามิเบียคนปัจจุบันคือ นายนนทศิริ บุรณศิริ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงพริทอเรีย และได้แต่งตั้งนายกาเบรียล วาเฮงโก (Dr. Gabriel Uahengo) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำนามิเบีย ฝ่ายนามิเบียได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตนามิเบียประจำมาเลเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐนามิเบียประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นายเกบฮาร์ด เบนจามิน คันดังกา (Gebhard Benjamin Kandanga) โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และได้แต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์นามิเบียประจำประเทศไทย
เศรษฐกิจ
การค้า
ในปี 2554 ไทยและนามิเบียมีมูลค่าการค้ารวม 11.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 7.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 3.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้า 4.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มูลค่าการค้ารวม ไทย-นามิเบีย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปริมาณไม่มากนัก สินค้าส่งออกหลักของไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคหะสิ่งทอ ข้าว เครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าที่ไทยนำเข้าจากนามิเบียคือ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่ง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
การลงทุน
ยังไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน
การท่องเที่ยว
ในปี 2553 มีชาวนามิเบียเดินทางมาไทย จำนวน 371 คน และไม่มีคนไทยอยู่ในนามิเบีย
ความร่วมมือทางวิชาการ
รัฐบาลไทยเสนอให้ทุนฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของนามิเบียภายใต้โครงการหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course – AITC) มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าฝ่ายนามิเบียจะมีความสนใจในด้านเกษตรกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการท่องเที่ยวของไทย แต่ยังไม่เคยส่งผู้แทนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
เมื่อต้นปี 2550 ไทยได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตรการวิเคราะห์สารชีวพิษในสัตว์น้ำ รวมทั้งการดูงานแหล่งเลี้ยงหอยสองฝา ณ สันติมานะฟาร์ม และศูนย์วิจัยและตรวจสอบคุณภาพน้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้แก่ผู้เชี่ยวชาญชาวนามิเบียจำนวน 2 คน ภายหลังการฝึกอบรม ฝ่ายนามิเบียแสดงความสนใจที่จะก่อสร้างห้องทดลองและสั่งซื้ออุปกรณ์จากไทย และขอความร่วมมือจากไทยให้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยติดตั้งและถ่ายทอดประสบการณ์ แต่จนกระทั่งบัดนี้ ฝ่ายนามิเบียยังไม่ได้ติดต่อฝ่ายไทยอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
ปัจจุบัน ไทยและนามิเบียอยู่ระหว่างการเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของทั้งสองประเทศ โดยล่าสุด ไทยได้เชิญอธิการบดีและผู้บริหารจาก Polytechnic of Namibia มาดูงานมหาวิทยาลัยในไทย ระหว่างวันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ 2553 และได้มีการลงนามในบันทึกความตกลง (Memorandum of Agreement) กับมหาวิทยาลัยของไทย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยเน้นส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนบุคลากร การทำวิจัยร่วม การทำหลักสูตรการศึกษาร่วม เป็นต้น
ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย
ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
-
ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา
ความตกลงด้านการค้า
- ปัจจุบันไทยกับนามิเบียยังไม่มีความตกลงระหว่างกัน
- ไทยต้องการสนับสนุนการจัดทำความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไทย-นามิเบีย เพื่อเป็นกลไกในการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เสนอร่างมาตรฐานของร่างความตกลงทั้ง 2 ฉบับดังกล่างข้างต้นแก่ฝ่ายนามิเบียแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 จึงขอให้ฝ่ายนามิเบียเร่งรัดการพิจารณา
การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
- ไม่มีการเสด็จฯ เยือน
นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี / เจ้าหน้าที่ระดับสูง
- วันที่ 21 มีนาคม 2533 ในโอกาสที่นามิเบียฉลองเอกราช ประเทศไทยส่งคณะผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศไปร่วมพิธีที่กรุงวินด์ฮุก
- วันที่ 5 -14 กันยายน 2537 คณะสำรวจข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศเยือนนามิเบียเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและหาลู่ทางพัฒนาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน
- ปี 2542 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนนามิเบียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 5-7 สิงหาคม 2552 นางจิตริยา ปิ่นทอง รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะ Focus Group ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เยือนนามิเบีย
- วันที่ 21-30 พฤศจิกายน 2552 นายกนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นำคณะผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาไทย เยือนบอตสวานาและนามิเบีย
ฝ่ายนามิเบีย
ประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี
- วันที่ 4 เมษายน 2536 นายโมเส ทิเทนเดโร (Dr. Mose Tjitendero) ประธานสภาแห่งชาตินามิเบียเดินทางจากกัมพูชาผ่านประเทศไทยเพื่อไปยังอินเดีย
- วันที่ 13-19 ตุลาคม 2541 นายสแตน เว็บสเตอร์ (Stan Webster) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร น้ำ และการพัฒนาชนบทนามิเบีย และคณะ เยือนไทยเพื่อศึกษาเกี่ยวกับลู่ทางในการร่วมลงทุน
- วันที่ 28 กันยายน - 2 ตุลาคม 2543 นายฮาเก จีนกอบ (Hage Geingob) นายกรัฐมนตรี นามิเบียเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
- วันที่ 27 มีนาคม – 1 เมษายน 2553 นางมาร์กาเร็ต เมนสา-วิลเลียมส์ (Margareth Mensah-Williams) รองประธานคณะมนตรีแห่งชาติ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union – IPU) ครั้งที่ 122 ที่กรุงเทพฯ
************************
มิถุนายน 2555
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **