มองโกเลีย

มองโกเลีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ย. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 50,432 view


มองโกเลีย
Mongolia

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อทางการ มองโกเลีย (Mongolia)

พื้นที่ 1.5 ล้าน ตร.กม. ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ภูเขา และทุ่งหญ้า ไม่มีอาณาเขตติดทะเล

เมืองหลวง กรุงอูลันบาตอร์

ประชากร 2.68 ล้านคน

ภาษาราชการ มองโกล (Mongol Khalkha)

ศาสนา พุทธ (นิกายลามะ)

ประมุข นายซักเคีย แอลแบลดอร์จ (Tsakhia Elbegdor)

ผู้นำรัฐบาล นายซูคบาทาห์ บัทโบลด์ (Sukhbaataryn Batbold)

รัฐมนตรีต่างประเทศ นายกอมโบจาฟ ซันดานชาตาร์ (Gombojav Zandanshatar)

ระบอบการปกครอง เสรีประชาธิปไตย (Parliamentary Republic) โดยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบบสังคมนิยมเมื่อปี 2533

เขตการปกครอง แบ่งออกเป็น 21 จังหวัด (aimags) และเมืองหลวง

วันชาติ 11กรกฎาคม

วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 5 มีนาคม 2517

หน่วยเงินตรา ตูริก (1,000 ตูริก เท่ากับ 25 บาท)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 5.2 พันล้าน USD

รายได้ประชาชาติต่อหัว 1,800 USD

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 8.9

สินค้านำเข้าสำคัญ น้ำมัน โลหะ เครื่องจักรกล วัสดุก่อสร้าง

สินค้าส่งออกสำคัญ ทองแดง ขนสัตว์ เครื่องหนัง เนื้อสัตว์

ธงชาติใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2483 สีแดง หมายถึง ความก้าวหน้า สีฟ้า หมายถึง ท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ เครื่องหมายสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ “Soyombo” หมายถึง ศาสนา

 

การเมืองการปกครอง

นโยบายรัฐบาล

1 ด้านการเมือง

•นับตั้งแต่ประกาศเอกราชจากจีนเมื่อปี 2464 และประกาศสถาปนา “สาธารณรัฐ ประชาชนมองโกเลีย” เมื่อปี 2467 (เป็นคอมมิวนิสต์ลำดับที่สองของโลกต่อจากสหภาพโซเวียต) จนถึงช่วงสงครามเย็น มองโกเลียได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต ทำให้สหภาพ โซเวียตมีอิทธิพลครอบงำมองโกเลียในทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

•การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและระบบคอมมิวนิสต์ได้ก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในมองโกเลีย มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองการปกครองไปสู่ระบบเสรีประชาธิปไตย ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2533 โดยให้ประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเป็นประมุขประเทศ มีวาระ 4 ปี ให้ประชาชนมีสิทธิจัดตั้งพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2533

• มองโกเลียมีระบบสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร (State Great Hural – SGH) มีสมาชิกจำนวน 76 คน มีวาระ 4 ปี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมองโกเลียครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2547 ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคปฏิวัติแห่งประชาชนมองโกเลีย (Mongolian People’s Revolutionary Party – MPRP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิมได้ 36 ที่นั่ง (ลดลงจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 ที่ได้รับเลือกตั้ง 72 ที่นั่ง จากทั้งหมด 76 ที่นั่ง) และพรรคผสมประชาธิปไตย (Motherland Democratic Coalition – MDC) ได้ 34 ที่นั่ง พรรคอิสระได้ 3 ที่นั่ง และพรรค Mongolian Republican Party ได้ 1 ที่นั่งต่อมา สภา SGH ได้มีมติแต่งตั้งให้นายซักเคีย แอลเบดอร์จ (Tsakhia Elbegdorj) จากพรรคผสมประชาธิปไตย ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2547 และนาย Tsendiin Nyamdorj ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2547

• เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2549 สภา SGH ได้ลงคะแนนเสียงล้มรัฐบาลมองโกเลีย หลังจากรัฐมนตรีซึ่งสังกัดพรรค MPRP จำนวน 10 คน ได้ลาออกจากรัฐบาลผสมภายใต้การนำของนายซักเคีย แอลเบดอร์จ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2549 โดยอ้างเหตุผลเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและการทุจริตในรัฐบาล ต่อมา สภา SGH ได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีโดยมีนายมิเยกอมโบ อิ๊งค์โบลด์ (Nambaryn Enkhbayar) เป็นนายกรัฐมนตรี

• วันที่ 22 พ.ย. 2550 รัฐสภามองโกเลียได้เห็นชอบแต่งตั้งนายซานจ์ บายาร์ (Sanj Bayar) ประธานพรรคปฏิวัติประชาชนมองโกเลีย (Mongolian People’s Revolutionary Party - MPRP) คนใหม่เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ต่อจากนายมิเยกอมโบ อิ๊งค์โบลด์ (Miyegombo Enkhbold) อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากที่นายมิเยกอมโบ อิ๊งค์โบลด์ ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อรัฐสภา และรัฐสภามองโกเลียได้มีมติอนุมัติการลาออกของเขาเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2550 โดยสาเหตุการลาออกเนื่องมาจากปัญหาการทุจริต และการให้สัมปทานเหมืองแร่กับบริษัทต่างชาติโดยมีผลประโยชน์แอบแฝง การยักยอกเงินออมในธนาคารของมองโกเลีย (Saving Banks) โดยสมาชิกพรรค MPRP จำนวน 3 คน

• นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของรัฐบาลมองโกเลียประจำปี 2547-2551 (Plan of Action of Government of Mongolia 2004-2008) ที่รัฐบาลชุดก่อนได้วางไว้ ดังนี้
(1) ยกระดับการบริการสาธารณะ และการปรับปรุงระบบราชการ
(2) คงไว้ซึ่งการเติบโตด้านเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน การเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ทั้งนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อลดช่องว่างในพัฒนาระหว่างเมืองและชนบท
(3) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี

2 ด้านเศรษฐกิจ

•เนื่องจากมองโกเลียอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตมาตั้งแต่ปี 2467 จึงทำให้สหภาพโซเวียตเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 2534 ทำให้ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศลดลง และส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในมองโกเลีย วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่มองโกเลียกำลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสังคมนิยมมาสู่ระบบตลาดเสรี มองโกเลียจึงเร่งเปิดประตูสู่นานาชาติมากขึ้น
•รัฐบาลมองโกเลียภายใต้การนำของนายมิเกกอมโบ อิ๊งค์โบดลด์ เน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาความยากจน และยังคงดำเนินนโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและการลงทุน (นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้ 100%) เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการบริการ

3 ด้านการต่างประเทศ

• ด้วยข้อจำกัดด้านภูมิรัฐศาสตร์ของมองโกเลียที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ 2 ประเทศ คือ จีน และรัสเซีย และเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล ทำให้มองโกเลียต้องพยายามรักษาสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซีย แม้ว่าในอดีตมองโกเลียจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและพึ่งพาสหภาพโซเวียตมาโดยตลอด แต่เมื่อรัสเซียประสบปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศ มองโกเลียจึงจำเป็นต้องรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับจีน ซึ่งขณะนี้เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของมองโกเลีย

• นอกจากจีนและรัสเซียแล้ว มองโกเลียได้พยายามส่งเสริมความสัมพันธ์และ การติดต่อกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อประโยชน์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจโดยเฉพาะเพื่อการขอรับความช่วยเหลือจากภายนอก สรุปได้ ดังนี้
(1)พัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในตะวันตกและตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป โดยมุ่งเน้นที่จะขยายโอกาสด้านการค้ากับประเทศเหล่านี้ รวมทั้งมุ่งหวังให้มีการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศดังกล่าวในโอกาสที่เหมาะสม
(2)เสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศ เช่น อินเดีย ไทย สิงคโปร์ ตุรกี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ออสเตรีย สวีเดน และ สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้ประเทศเหล่านี้มีความสนใจในด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ของมองโกเลียมากขึ้น
(3)พยายามขยายตลาดการค้าและแสวงหาสถานะ Most Favoured Nations (MFN) กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
(4)เสริมสร้างสถานะของมองโกเลียในเวทีการเมือง/เศรษฐกิจระหว่างประเทศให้เข้มแข็งขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียกลาง ในการนี้ มองโกเลียมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) (โดยอาจเริ่มจากการเข้าร่วมการประชุมระดับคณะทำงานของ APEC) และเข้าร่วมการประชุม East Asia Summit
(5)สนับสนุนความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ และองค์การด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ IMF World Bank และ ADB
(6)พัฒนาและสานต่อความสัมพันธ์กับประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชและประเทศที่เคยอยู่ในกลุ่มสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางและประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต อาทิ โปแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก คาซัคสถาน ยูเครน เบลารุส และ อุซเบกิสถาน
(7)พัฒนาความสัมพันธ์และร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาในการนำไปสู่จุดมุ่งหมายร่วมกันในการพัฒนาประเทศ โดยส่งเสริมความสัมพันธ์ทั้งในกรอบทวิภาคี และส่งเสริม ความร่วมมือพหุภาคีในองค์การระหว่างประเทศและกรอบความร่วมมือในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมองโกเลียเป็นสมาชิก ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ กลุ่ม G-77 NAM ACD ASEM และ ARF

สถานการณ์สำคัญ

1 ด้านการเมือง

• นับตั้งแต่การล่มสลายของ ระบอบคอมมิวนิสต์ มองโกเลียได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยในปี 2533อย่างสันติ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งอย่างอิสระและยุติธรรมหลายครั้ง การเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละสมัยดำเนินไปอย่างราบรื่น รัฐบาลมีทัศนคติเปิดกว้างและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายในระดับสูง ซึ่งนับเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่เพิ่งปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองทั้งหลาย

• เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2548 มองโกเลียได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีมองโกเลีย ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นาย Nambar Enkhbayar ผู้สมัครจากพรรค MPRP และอดีตนายกรัฐมนตรี (ระหว่างปี 2543-2547) ได้รับการเลือกตั้งตามความคาดหมาย ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 53.46 ตามด้วยผู้สมัครจากพรรค Democratic Party ซึ่งได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 19.76 และตามด้วยผู้สมัครจากพรรค Republican Party Motherland Party ตามลำดับ นาย Nambar Enkhbayar จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากนาย Natsagiin Bagabandi (จาก MPRP) ซึ่งเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์
มองโกเลียที่ได้รับแต่งตั้งประธานาธิบดีถึงสองสมัยติดต่อกัน

• การเมืองในปัจจุบันไม่ค่อยมีเสถียรภาพ มีการเปลี่ยนรัฐบลแล้ว 2 ชุด ในช่วงปี 2548-2551 โดยสาเหตุหลักมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นของบรรดานักการเมือง โดยเฉพาะผลประโยชน์แอบแฝงในการให้สัมปทานเหมืองแร่ให้กับนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น ภาระกิจหลักของรัฐบาลภายใต้นายซานจา บายาร์ จึงเน้นหนักไปที่การต่อต้านและปราบปรามคอร์รัปชั่น

2 ด้านเศรษฐกิจ

•สภาวะทางเศรษฐกิจของมองโกเลียในช่วงแรกที่เริ่มปรับเปลี่ยนสู่ระบบตลาดเสรีมีความผันผวนอย่างมาก และได้เริ่มปรับตัว มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยในปี 2548 มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 5.5 และอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 11 (ที่มา: Mongolia Annual Economic Development Report/ADB Forecast และ CIA : The World Factbook)

•ปัจจุบัน มองโกเลียถือได้ว่าเป็น new market economy ซึ่งเปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนได้ 100% ในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน คมนาคม โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เนื่องจากมองโกเลียอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ทองแดง ถ่านหิน โมลิบดีนั่ม ดีบุก ทังสเตน และทองคำ โดยเฉพาะถ่านหิน ทองคำ และทองแดง เป็นรายได้หลักสำคัญของมองโกเลียในปัจจุบัน

•ประชากรชาวมองโกเลียประมาณ 47% อยู่ในภาคเกษตรกรรม และมีหมู่บ้านจำนวน 329 หมู่บ้านที่มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ โดยมองโกเลียมีจำนวนสัตว์เลี้ยงประมาณ 28 ล้านตัว แต่สามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคใช้ภายในประเทศเพียง 30% และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 70% ดังนั้น รัฐบาล มองโกเลียจึงกำหนดให้การพัฒนาเกษตรกรรมเป็นความสำคัญเร่งด่วนและกำหนดแผนในการพัฒนาการเกษตร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านปศุสัตว์ให้ทันสมัย และกำหนดให้ปี ค.ศ. 2010 สามารถผลิตพืชผักเพื่อการบริโภคภายในประเทศอย่างเพียงพอ

•คู่ค้าที่สำคัญของมองโกเลียคือ จีน และรัสเซีย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของมองโกเลีย สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ทองแดง เสื้อผ้า ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ แคชเมียร์ ขนแกะ และรัสเซียเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 1 สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ น้ำมัน รถยนต์ ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ก่อสร้าง เป็นต้น

3 ด้านการต่างประเทศ

•มองโกเลียได้พยายามเข้าไปมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ มากขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่
(1)นาย Natsagiin Bagabandi อดีตประธานาธิบดีมองโกเลียได้เดินทางเยือน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19-23 มกราคม 2548 และเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23-25 มกราคม 2548 (ในโอกาสดังกล่าวได้ทาบทามเยือนประเทศไทยด้วยแต่เนื่องจากฝ่ายไทยอยู่ในช่วงเตรียมการเลือกตั้งจึงไม่สามารถรับการเยือนได้) และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา ระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2548 ณ กรุงจาการ์ตา
(2)มองโกเลียได้เข้าเป็นสมาชิก ACD เมื่อปี 2547 และได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548 ที่กรุงอิสลามาบัดเป็นครั้งแรก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมองโกเลียได้แสดงความสนใจที่มองโกเลียจะเข้าร่วมกิจกรรมในสาขาการแก้ไขปัญหาความยากจน การเกษตร การท่องเที่ยว และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งได้ตอบรับข้อเสนอของไทยในเรื่องการจัดประชุม ACD Summit และการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นอย่างดี
(4)มองโกเลียได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี ARF ครั้งที่ 5 ที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 2541 เป็นครั้งแรก และได้มีบทบาทใน ARF อย่างแข็งขัน และเมื่อวันที่ 6-8 เมษายน 2548 ได้ส่ง ผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ARF Inter-Sessional Meeting on Counter Terrorism and Transnational Crime ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ ล่าสุด มองโกเลียเป็นเจ้าภาพจัด Track II Workshop on Changes in the Security Perceptions and Military Doctrines เมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน 2548 ที่กรุงอูลันบาตอร์
(5) มองโกเลียได้เข้าเป็นสมาชิกการประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ฝ่ายเอเชีย โดยที่ประชุม ASEM ครั้งที่ 6 (10-11 ก.ย.49) ที่ประเทศฟินแลนด์ มีมติรับมองโกเลียเป็นสมาชิก
(6) มองโกเลียได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) และยังคาดหวังที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) ด้วย

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลทางเศรษฐกิจ

ระบบเศรษฐกิจ เสรีการตลาด (ปฏิรูปจากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เมื่อปี 2533)

หน่วยเงินตรา Tugrik (ตูริก)

อัตราแลกเปลี่ยน 1,000 ตูริก ต่อ23.55 บาท 

ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GDP) 8.8 พันล้าน USD

GDP per capita 4,500 USD


อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 17.3


อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 10.2


สินค้าส่งออกที่สำคัญ แร่โมลิบดีนัม ทองแดง ขนสัตว์ เครื่องหนัง พรมขนสัตว์ เนื้อสัตว์ ไม้ท่อน (แร่โมลิบดีนัม และทองแดงเป็นสินค้าออกที่สำคัญมีมูลค่าครึ่งหนึ่งของสินค้าออกทั้งหมด)

สินค้านำเข้าที่สำคัญ น้ำมัน โลหะ เครื่องจักรกล วัสดุก่อสร้าง ยานพาหนะ อาหาร(น้ำมันเป็นสินค้านำเข้าที่สำคัญมีประมาณครึ่งหนึ่งของสินค้านำเข้าทั้งหมด)

ประเทศคู่ค้าส่งออกที่สำคัญ จีน (ร้อยละ 81.8) แคนาดา (ร้อยละ 8.1) สหภาพยุโรป 27 ประเทศ (ร้อยละ 5.6) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 3.4) รัสเซีย (ร้อยละ 3.1) ไทยอันดับที่ 39 (ร้อยละ 0.001)

ประเทศคู่ค้านำเข้าที่สำคัญ จีน (ร้อยละ 42.1) รัสเซีย (ร้อยละ 25.9) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 5.2) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 4.8) ไทยอันดับที่ 20 (ร้อยละ 0.1)

ตลาดหุ้น Mongolian Stock Exchange

การลงทุนจากต่างประเทศ ช่วงปี 2533-2545 มีนักลงทุนจาก 72 ประเทศเข้ามาลงทุนในมองโกเลีย จำนวน 2,399 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 660.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศที่เข้าไปลงทุนมากที่สุด ได้แก่ จีน รัสเซีย และเกาหลีใต้ สาขาการลงทุนที่รัฐบาลมองโกเลียให้การส่งเสริม ได้แก่ โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน อุตสาหกรรมการสำรวจและแปรรูปแร่ธาตุ การท่องเที่ยว และการโรงแรม

สังคม

ประชากร 2,832,224 คน ประกอบด้วย 17 เผ่าพันธุ์ ได้แก่ มองโกล ร้อยละ 94.9 (ส่วนใหญ่เป็นพวก Khalkha) คาซัค ร้อยละ 5 รัสเซียและจีน ร้อยละ0.1

ศาสนา พุทธนิกายลามะ

อัตราการเพิ่มประชากร ร้อยละ 1.46 

อัตราการรู้หนังสือ ร้อยละ 97.8

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 6.7 

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

วันสถาปนาความสัมพันธ์กับไทย วันที่ 5 มีนาคม 2517

สำนักงานไทยในมองโกเลีย สอท. ณ กรุงปักกิ่งมีเขตอาณาครอบคลุมถึงมองโกเลีย และแต่งตั้ง Mr. Lhagvaa lhagvasuren เป็นกงสุลกิติมศักดิ์ของไทยประจำมองโกเลีย

สถานเอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำไทย เอกอัครราชทูต ปัจจุบัน คือ H.E. Mr. Luvsandoo Dashpurev) และแต่งตั้ง นายวิวิศน์ เตชะไพบูลย์ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลียประจำประเทศไทย

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ

องค์การสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) กลุ่ม 77
ASEAN Regional Forum (ARF)Asia Cooperation Dialogue (ACD) Asia-Europe Meeting (ASEM) ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)Organisation for Security and Cooperation in Europe(OSCE)

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมองโกเลีย

ความสัมพันธ์กับประเทศไทยและสถานะล่าสุดของความร่วมมือ

1 ยุทธศาสตร์ของไทยต่อมองโกเลีย

•สนับสนุนให้มองโกเลียมีบทบาทอย่างแข็งขันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อเป็นพันธมิตรกับไทยในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ

•ให้ความช่วยเหลือแก่มองโกเลียในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อม โดยเฉพาะในสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

2 ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับมองโกเลียเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2517 โดยกำหนดให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง มีเขตอาณาครอบคลุมมองโกเลีย และแต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงอูลันบาตอร์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
สำหรับฝ่ายมองโกเลียในช่วงแรกได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูตมองโกเลีย ณ เวียงจันทน์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543 มองโกเลียได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยขึ้น มีนาย Luvsandorj Bayart เป็นเอกอัครราชทูตมองโกเลียคนแรก
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมองโกเลียโดยทั่วไปดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้มองโกเลียไม่ใช่ประเทศสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของไทย และสองฝ่ายยังไม่มีความร่วมมือระหว่างกันมากนัก อย่างไรก็ดี ไทยและมองโกเลียมีความพยายามในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อเป็นช่องทางการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น อย่างต่อเนื่อง โดยไทยให้ความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่มองโกเลีย โดยคำนึงว่ามองโกเลียเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกทะเล และนักลงทุนไทยได้เริ่มเข้าไปลงทุนในมองโกเลีย โดยเฉพาะการลงทุน ในด้านเหมืองแร่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
มองโกเลียสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศเป็นอย่างดี และให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และมีบทบาทโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศ จึงประสงค์จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งต้องการให้ไทยเป็นพันธมิตรกับมองโกเลียในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ


3 ด้านการเมืองและความมั่นคง

ที่ผ่านมา สองฝ่ายมีความร่วมมือระหว่างกันไม่มากนักแต่ได้เริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อมองโกเลียได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการฝึกคอบร้าโกลด์เมื่อปี 2545 นอกจากนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติมองโกเลียได้เสนอให้มีความร่วมมือกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทย เพื่อความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและปรึกษาหารือในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน โดยมองโกเลียได้จัดส่ง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งสองให้ฝ่ายไทยพิจารณาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา

4 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

การค้า

การค้าระหว่างไทย – มองโกเลีย ยังมีมูลค่าการค้าไม่มากนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการค้าไทย-มองโกเลียตลอดปี 2554 มีมูลค่ารวม 18.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าปี 2553 ในอัตราร้อยละ 30 โดยไทยส่งออก 12.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 5.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากการค้าระหว่างกันเมื่อปี 2553 ร้อยละ 32.64 และร้อยละ 26.17 ตามลำดับ
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ
สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ สินแร่โลหะ เศษโลหะ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชา กาแฟ เครื่องเทศ

การลงทุน

ผู้ประกอบการไทยสนใจการลงทุนในมองโกเลียมากขึ้น นอกจากนี้ ระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้ามองโกเลีย เมื่อเดือนธันวาคม 2553 ฝ่ายไทยและฝ่ายมองโกเลียได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสัมมนาและจับคู่ธุรกิจไทย - มองโกเลีย ที่กรุงเทพฯ ฝ่ายไทยมีความสนใจลงทุนในมองโกเลียในด้านเหมืองแร่ ก่อสร้างและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ธุรกิจท่องเที่ยว สปา
ปัจจุบันบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ลงทุนในกิจการเหมืองถ่านหิน และจัดตั้งสำนักงานในมองโกเลียเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ส่วนมองโกเลียไม่มีการลงทุนในไทย


5 ความร่วมมือด้านการพัฒนา

ไทยให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แก่มองโกเลีย ในรูปแบบของทุนการศึกษา และทุนฝึกอบรมเฉพาะทาง ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทยและมองโกเลียกำลังดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างไทย – มองโกเลีย โดยกระทรวงการต่างประเทศจะจัดส่งคณะเดินทางไปหารือกับฝ่ายมองโกเลีย เพื่อร่วมจัดทำแผนโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนา ระยะ 2 ปี เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 โดยเน้นสาขาความร่วมมือ 4 สาขา ตามความต้องการของฝ่ายมองโกเลีย ได้แก่ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

6 ด้านวัฒนธรรม

ความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและมองโกเลียมีพัฒนาการที่ดี โดยเฉพาะในระดับประชาชนต่อประชาชน โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง (ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมมองโกเลีย) ได้ดำเนินโครงการนำคณะนาฏศิลป์ไทยเดินทางไปร่วมการแสดงเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในงาน Thai Day ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงอูลันบาตอร์ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทยได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมองโกเลียขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๕ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิชาการและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก

ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย

1 ความตกลง/บันทึกความเข้าใจที่ลงนามแล้ว

(1)ความตกลงทางด้านการค้าและความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ลงนามเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2517
(2)ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ ลงนามเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและมองโกเลีย
(3)ความตกลงด้านการบิน ลงนามเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมมองโกเลีย
(4)บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยและกระทรวงสาธารณสุขของมองโกเลีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขและการแลกเปลี่ยนบุคลากร แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน ลงนามเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทยและมองโกเลี
(5) พิธีสารว่าด้วยการหารือและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย- มองโกเลีย (Protocol on the Cooperation between the Ministry of Foreign Affairs of Thailand and Mongolia) ลงนามเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2548 โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศมองโกเลีย
(6) ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วน ที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (Agreement on Double Taxation and Prevention of Fiscal Evasion with Respect to Taxation on Income and Capital) ลงนามเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2549 ระหว่างการเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17-19 สิงหาคม 2549
(7) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (Agreement on Cooperation in the Field of Culture) ลงนามเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2549 ระหว่างการเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17-19 สิงหาคม 2549
(8) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (Agreement on Tourism Cooperation between the Tourism Authority of Thailand and the Ministry of Road, Transport and Tourism of Mongolia) ลงนามเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ระหว่างการดูงานด้านการท่องเที่ยวของผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ขนส่ง และท่องเที่ยวของมองโกเลีย ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2549
(9) ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดาไทย-มองโกเลีย ลงนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย

2 ความตกลง/บันทึกความเข้าใจ/พิธีสารที่อยู่ระหว่างรอการลงนามหรืออยู่ระหว่างพิจารณา

(1)บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ (MOU on the
participation of Mongolian Armed Forces in Cobra Gold Exercise in the Kingdom of Thailand)
(2) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement on Investment Promotion and Protection)
(3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติไทย- มองโกเลีย (MOU on Cooperation between the National Security Council of the Kingdom of Thailand and the National Security Council of Mongolia)


การแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญ

1การเยือนของฝ่ายไทย

1.1 การเสด็จฯเยือนของพระราชวงศ์

• สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนมองโกเลียระหว่างวันที่
6-12 ตุลาคม 2535
• สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนมองโกเลียระหว่างวันที่ 6-12 ตุลาคม 2535 และระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2552 ตามคำเชิญของประธานาธิบดีมองโกเลีย

1.2 การเยือนของผู้แทนระดับสูง
• นายสาโรจน์ ชวนะวิรัช รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเยือนมองโกเลียระหว่างวันที่ 12-16 สิงหาคม 2537
• อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก (นายนรชิต สิงหเสนี) เยือนมองโกเลียระหว่างวันที่ 16-20
กันยายน 2545
• ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ (นายสรจักร เกษมสุวรรณ) และอธิบดี
กรมเอเชียตะวันออกเยือนมองโกเลียเพื่อเข้าร่วมการประชุม International Conference for New or Restored Democracies ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 8-12 กันยายน 2546 ณ กรุงอูลันบาตอร์
• ประธานรัฐสภาไทย (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) เยือนมองโกเลียในฐานะแขกของรัฐสภามองโกเลีย ระหว่างวันที่ 10-14 กันยายน 2546
• นายนิสสัย เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือน
มองโกเลีย ในฐานะผู้แทนพิเศษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อโน้มน้าวให้มองโกเลีย เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ระหว่างวันที่ 6-10 พฤศจิกายน 2547
• ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (นายเปี่ยมศักดิ์
มิลินทจินดา) เยือนมองโกเลียระหว่างวันที่ 24-28 กรกฎาคม 2548
• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายกันตธีร์ ศุภมงคล)เยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2549 ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายมิเยกอมโบ อิงค์โบลด์ นายกรัฐมนตรีมองโกเลีย และได้หารือทวิภาคีกับนายนยัมอา อิ๊งค์โบลด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมองโกเลีย

2 การเยือนของฝ่ายมองโกเลีย

• นาย Punsalmaagiin Ochirbat ประธานาธิบดีมองโกเลีย เยือนไทยระหว่างวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ 2537
• นาง Nyam-Osor Tuya รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนไทยเมื่อเดือน
มิถุนายน 2543
• นาย Luvsangiin Erdenechuluun รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มองโกเลียเยือนไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2545 เพื่อเข้าร่วมการประชุม ESCAP ครั้งที่ 58
• นาย Tsakhia Elbegdorj นายกรัฐมนตรีมองโกเลียเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในลักษณะ Working Visit ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2548
• ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ขนส่ง และท่องเที่ยวของมองโกเลีย ดูงานด้านการท่องเที่ยวของไทย ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2549
• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมมองโกเลีย เยือนไทยเมื่อวันที่ 29-30 กันยายน 2549
• เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการคลังมองโกเลีย ศึกษาดูงานด้านนโยบายภาษีของไทย วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550
• นายบัทโบลด์ ซุนดี (Batbold Sundui) รัฐมนตรีและหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี
นำคณะผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ของมองโกเลีย เยือนไทยและดูงานในชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ระหว่างวันที่ 12-16 มีนาคม 2550 และได้เข้าเยี่ยมคารวะรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของไทย
• นายซัมเบอร์เรลคัม ดอร์จดัมบา (Zumberellkham Dorjdamba) ที่ปรึกษาด้านนโยบายกฎหมายของประธานาธิบดีมองโกเลียเยือนไทย ระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 10 กุมภาพันธ์ 2551
•รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้ามองโกเลีย (นายกอมโบจาฟ ซันดานชาตาร์) เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม 2553
•รองนายกรัฐมนตรีมองโกเลีย (นายเมียกอมบ์ เอ็งค์โบลด์) เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม UNESCAP Commission ครั้งที่ 67 ระหว่างวันที่ 23– 24 พฤษภาคม 2554 และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 ด้วย (สองฝ่ายมีการหารือในประเด็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนา การแสวงหาช่องทางการลงทุน และการที่ไทยสนับสนุนบทบาทมองโกเลียในด้านประชาธิปไตย)


3 การพบหารือทวิภาคีที่สำคัญ

• นายกรัฐมนตรีพบหารือกับนายกรัฐมนตรีมองโกเลีย (นาย Nambar Enkbayar)
ในช่วงการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือทวิภาคีกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศมองโกเลีย (นาย Radnaabazaryn Altangerel) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2547 ระหว่างการประชุม สมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 59 ณ นครนิวยอร์ก
• รองนายกรัฐมนตรีจาตุรนต์ ฉายแสง พบหารือทวิภาคีกับนาย Tsakhia Elbegdorj นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ในโอกาสการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีมองโกเลียระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2548
• รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ศึกษาธิการ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์มองโกเลีย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2548 ในโอกาสการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีมองโกเลียระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2548
• นายปรีชา เลาหพงส์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือทวิภาคีกับ นายอะวิเม็ด บัททู (Avirmed Battur) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศมองโกเลีย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2548 ในโอกาสการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีมองโกเลียระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2548

กองเอเชียตะวันออก 3
กรมเอเชียตะวันออก
26 เมษายน  2556





กองเอเชียตะวันออก 3 กรมเอเชียตะวันออก โทร. 0-2643-5204-10Fax. 0-2643-5205

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-177-document.doc