การรักษาสันติภาพ

การรักษาสันติภาพ

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 250,323 view

ปฏิบัติการรักษาสันติภาพในกรอบของสหประชาชาติ (United Nations Peacekeeping Operations)

1. บทบาทของสหประชาชาติ

1.1  สหประชาชาติมีบทบาทหน้าที่ในการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติตามที่ระบุในกฎบัตรสหประชาชาติ 2 ประการคือ หมวดที่ 6 ว่าด้วยการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี (Chapter VI : Pacific Settlement of Disputes : ข้อ 33-38) และหมวดที่ 7 ว่าด้วยการดำเนินการเพื่อระงับภัยคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพหรือการกระทำในลักษณะรุกราน (Chapter VII : Action with Respect to Threats to the Peace, Breaches of the Peace, and Acts of Aggression : ข้อ 39-51 ) ซึ่งถือเป็นมาตรการการใช้กำลังเพื่อให้เกิดสันติภาพ (peace enforcement)

1.2  คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นกลไกของสหประชาชาติที่มีอำนาจในการวินิจฉัยและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อระงับหรือยุติความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะสามารถหยิบยกปัญหาความขัดแย้งขึ้นสู่การพิจารณาของสมัชชาสหประชาชาติได้ แต่อำนาจของสมัชชาฯ จำกัดอยู่เพียงแค่การให้คำแนะนำ โดยไม่มีผลผูกพันเช่นผลการพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงฯ

1.3  ปฏิบัติการรักษาสันติภาพเป็นหนึ่งในมาตรการของสหประชาชาติที่จะธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นภายหลังการก่อตั้งสหประชาชาติ จึงไม่มีระบุไว้ในกฎบัตรฯ ดังนั้น ความหมายและขอบเขตอำนาจหน้าที่จึงเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของรูปแบบความขัดแย้ง พิจารณาเป็นรายกรณี

1.4  ในช่วงก่อนการสิ้นสุดของสงครามเย็น บทบาท/ภาระหน้าที่ของปฏิบัติการรักษาสันติภาพจำกัดเพียง เฉพาะทางด้านทหารในการตรวจสอบ/ตรวจตรา/และรายงานการปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงหรือข้อตกลงสันติภาพชั่วคราว การจัดตั้งและกำหนดอาณัติขอบเขตจึงเป็นปฏิบัติการตามหมวดที่ 6 ของกฎบัตรฯ ว่าด้วยการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี โดยยึดหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ การได้รับความยินยอม (consent) จากประเทศที่เกี่ยวข้อง การไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (impartiality) และการไม่ใช้กำลัง ยกเว้นกรณีป้องกันตัว (non-use of force)

1.5  ตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น รูปแบบของความขัดแย้งได้เปลี่ยนไป โดยสาเหตุของความขัดแย้งมิได้จำกัดเฉพาะระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่บ่อยครั้งที่เกิดจากปัญหาภายในประเทศ อาทิ ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ/ศาสนา การละเมิดสิทธิมนุษยชน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  ซึ่งความขัดแย้งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง อาทิ ปัญหาผู้อพยพ

1.6  ผลสำเร็จของสงครามอ่าว (Gulf War) ในตะวันออกกลางเมื่อปี 2534 ทำให้สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกผลักดันแนวความคิดเกี่ยวกับ new world order ที่มีการจัดกำลังในลักษณะ collective security system ภายใต้สหประชาชาติ (มีสหรัฐฯ และพันธมิตรกลุ่มประเทศตะวันตกเป็นแกนนำ) เพื่อทำหน้าที่ธำรงสันติภาพโลก ทั้งนี้ ได้มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทของปฏิบัติการรักษาสันติภาพให้เน้นไปที่บทบาทการใช้กำลังเพื่อให้เกิดสันติภาพภายใต้หมวดที่ 7 ของกฎบัตรฯ มากขึ้น และสหประชาชาติเองก็พยายามผลักดันแนวความคิดดังกล่าวโดยในปี 2535 นายบรูโทรส บรูโทรส กาลี เลขาธิการฯ ในขณะนั้นได้จัดทำรายงานเรื่อง “วาระเพื่อสันติภาพ (Agenda for Peace)” เสนอให้มีการจัดตั้งกองกำลังของสหประชาชาติ (UN Army) เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาสันติภาพและความมั่นคง  แต่ปรากฏว่าแนวความคิดดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เนื่องจากอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้กำลังในกรอบของสหประชาชาติขึ้นกับคณะมนตรีความมั่นคงฯ ที่ประเทศมหาอำนาจเป็นสมาชิกถาวร ซึ่งมิได้สะท้อนความเห็นและผลประโยชน์ของสมาชิกส่วนใหญ่

1.7  ประสบการณ์ความล้มเหลวของปฏิบัติการรักษาสันติภาพในรวันดา โซมาเลีย และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา ซึ่งเป็นปฏิบัติการในลักษณะที่มีการใช้กำลังเพื่อให้เกิดสันติภาพภายใต้หมวดที่ 7 ของกฎบัตรฯ เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นข้อจำกัดของปฏิบัติการรักษาสันติภาพที่มาจากสาเหตุสำคัญ คือ (1) สหประชาชาติต้องพึ่งการสนับสนุนทั้งหมดจากประเทศสมาชิก ทำให้การจัดกำลังแต่ละครั้งต้องใช้เวลารวบรวมกำลังพล และอาจจะได้ไม่ครบตามที่วางแผนไว้  (2) องค์ประกอบด้านบุคลากร ยุทโธปกรณ์ และการบังคับบัญชาไม่เอื้ออำนวยให้จัดหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพได้  (3) ปฏิบัติการในลักษณะที่มีการใช้กำลังเพื่อให้เกิดสันติภาพมีระดับความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน ซึ่งการสูญเสียเพียงเล็กน้อยที่เกิดกับกองกำลังอาจก่อให้เกิดกระแสสังคมภายในประเทศกดดันให้รัฐบาลต้องถอนการสนับสนุน ซึ่งอาจทำให้ปฏิบัติการรักษาสันติภาพนั้น ๆ ต้องล้มเลิกไปในที่สุด

1.8  จุดแข็งของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ คือ ความเป็นสากล (universality) และการได้รับความยอมรับทางการเมืองจากทุกฝ่ายของประเทศที่เกี่ยวข้อง (political acceptance) การไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการไม่ใช้กำลัง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าบทบาทที่เหมาะสมของปฏิบัติการรักษาสันติภาพคือ การเป็นกำลังป้องปราม (deterrent force) มากกว่ากองกำลังสู้รบ เนื่องจากฝ่ายต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันต่างตระหนักดีว่าการโจมตีทำร้ายกองกำลังสหประชาชาติ จะทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาคมโลก

1.9 ปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติได้มีพัฒนาการจากบทบาทเดิมที่เน้นเฉพาะความพยายามในการยุติการสู้รบและความขัดแย้ง มาสู่ภารกิจที่มีหลากหลายมิติ ทั้งการรักษาสันติภาพและการฟื้นฟูเสริมสร้างสันติภาพภายหลังความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทของทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือน เช่น การยุติความขัดแย้งของคู่กรณี การมีส่วนร่วมในกระบวนการรักษาความมั่นคงและอำนวยความสะดวกให้เกิดระบบการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่น การบรรเทาทุกข์เพื่อมนุษยธรรม และการพัฒนา ซึ่งเป็นภารกิจที่ซับซ้อนมากขึ้นและจำเป็นต้องมีการประสานความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น  ดังนั้น สหประชาชาติจึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปปฏิบัติการรักษาสันติภาพ เช่น การปรับโครงสร้างสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ โดยมอบหมายให้ Department of Peacekeeping Operations (DPKO) รับผิดชอบงานด้านการวางแผนและจัดการกองกำลังและปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และต่อมาได้จัดตั้ง Department of Field Support (DFS) เพื่อรับผิดชอบด้าน logistics แก่กองกำลังและปฏิบัติการรักษาสันติภาพ รวมถึงบุคลากร งบประมาณ การสื่อสาร และโครงการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (New Horizon Project) เพื่อ  การวิเคราะห์เชิงรุกเกี่ยวกับปัญหาและความท้าทายของปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติอันเป็นผลจากสภาพปัญหาความขัดแย้งที่เปลี่ยนแปลงไป

1.10 เมื่อปี พ.ศ. 2546 สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 29 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันสากลแห่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ” (International Day of United Nations Peacekeepers) เพื่อรำลึกถึงเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและพลเรือนที่อุทิศตน รวมทั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าหน้าที่ที่พลีชีพในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ เข้มแข็ง และเป็นมืออาชีพในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเพื่อธำรงไว้ซึ่ง สันติภาพและความมั่นคง แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง บรรเทาความทุกข์ยากของผู้อื่น ร่วมสร้างสันติภาพและความสงบสุขในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกตามบทบัญญัติของกฏบัตรสหประชาชาติ โดยวันที่ 29 พฤษภาคมเป็นวันที่สหประชาชาติจัดตั้งภารกิจรักษาสันติภาพขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ในบริเวณดินแดนปาเลสไตน์และอิสราเอลเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์และติดตามการปฏิบัติตามข้อตกลงสงบศึก  ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติมีเอกลักษณ์ประจำตัว คือ หมวกสีฟ้า ทั้งที่เป็นหมวกเหล็ก (helmet) และหมวกเบเรต์ (beret) ที่สวมใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ และตราสัญลักษณ์ของสหประชาชาติที่ติดอยู่บนแขนเสื้อ เพื่อแสดงถึงเอกภาพและความเป็นกลาง นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) กองกำลังปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติยังได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอีกด้วย

2. ความร่วมมือในระดับภูมิภาค

2.1 ความร่วมมือด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพเป็นกิจกรรมสำคัญในแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน พ.ศ. 2552-2558 (ข้อ B 2.3) ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นควรให้เริ่มต้นจากการสร้างเครือข่ายระหว่างศูนย์รักษาสันติภาพของประเทศสมาชิก เพื่อการวางแผนร่วมการอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกลไกอาเซียนเพื่อธำรงสันติภาพและเสถียรภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน

2.2 ความร่วมมือด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของอาเซียน ในการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและการระงับข้อพิพาทโดยสันติ โดยดำเนินการในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting - Plus หรือ ADMM-Plus) ซึ่งไทยได้เข้าร่วมอย่างแข็งขันและมีบทบาทที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง

2.3 ภายใต้กรอบ ARF

            -  Ha Noi Plan of Action to Implement the ARF Vision Statement กำหนดให้ปฏิบัติการรักษาสันติภาพเป็นความร่วมมือหนึ่งระหว่างสมาชิก ARF เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ความร่วมมือด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและเตรียมความพร้อมในภูมิภาคผ่านการฝึกอบรมและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรวบรวมแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและบทเรียนที่ผ่านมาจากปฏิบัติการรักษาสันติภาพในกรอบ UN และองค์กรในภูมิภาคต่าง ๆ การจัดทำและปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย การกำหนดผู้ประสานงานหลักสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูล การจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การสร้างเครือข่ายระหว่างศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของสมาชิก ARF ที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมปฏิบัติการรักษาสันติภาพโดยสร้างสถานการณ์สมมติ เป็นต้น

            -  ARF Peacekeeping Experts’ Meeting เป็นการประชุมประจำปี (การประชุมครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2550) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาสันติภาพ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความท้าทายในการจัดการฝึกอบรมด้านการรักษาสันติภาพ อันจะส่งเสริมความเชื่อมั่นและการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนในภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถด้านการรักษาสันติภาพ

            -  สำนักเลขาธิการอาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำ Compilation Study on Best Practices and Lessons Learned in Peacekeeping Operations in the ARF ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ASEAN-US Technical Assistance and Training Facility (US-TATF) เพื่อรวบรวมประสบการณ์การเข้าร่วมในปฏิบัติการ การปรับใช้บทเรียนที่ผ่านมากับการวางแผนปฏิบัติการรักษาสันติภาพในอนาคต และข้อแนะนำในการทำให้การศึกษาครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ ประเด็นการสร้างเครือข่ายระหว่างศูนย์รักษาสันติภาพในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูล และการแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ การสร้างสันติภาพหลังความขัดแย้งเพื่อนำมาสู่สันติภาพที่ยั่งยืน การเคารพแนวปฏิบัติระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม

            -  ARF Defence Officials’ Dialogue (ARF DOD) เป็นอีกเวทีหนึ่งของการหารือประเด็นความร่วมมือด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ล่าสุด ในการประชุม ARF DOD โดยที่ประชุมให้ความสำคัญเกี่ยวกับการฝึกซ้อมกำลังทหารก่อนเริ่มปฏิบัติการเพื่อเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ระหว่างปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การประสานงานกันระหว่างกรอบ ARF และ ADMM-Plus Experts’ Working Group on Peacekeeping Operations นอกจากนี้ ที่ประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของประเทศตน ตลอดจนรายละเอียดหลักสูตรการฝึกอบรมที่นานาชาติสามารถมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการรักษาสันติภาพ

2.4  ภายใต้กรอบ ADMM-Plus

            -  ในกรอบ ADMM-Plus กำหนดให้การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (Peacekeeping Operations - PKO) เป็น 1 ใน 6 สาขาความร่วมมือ ซึ่งมีการจัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Experts’ Working Groups - EWGs) เป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือในแต่ละสาขา ซึ่งมีทั้งในรูปแบบการประชุม และ การฝึกซ้อมร่วม โดยสาขาความร่วมมืออื่น ๆ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief - HADR) ความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security) การต่อต้านการก่อการราย (Counter-Terrorism) การแพทย์ทางทหาร (Military Medicine) และการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Mine Action)

            -  การจัดตั้ง EWG ด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพมีวัตถุประสงค์สำคัญ 7 ประการ ได้แก่ (1)เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในการเสริมสร้างความร่วมมือด้าน PKO (2) เพื่อจัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้าน PKO และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (3) เพื่อร่วมกันแสดงศักยภาพด้าน PKO ในภูมิภาค (4) เพื่อสร้างการริเริ่มด้านความร่วมมือทางทหารในด้าน PKO และการสร้างฐานข้อมูล (5) เพื่อระบุ พัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถด้าน PKO (6) เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินงานสำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการเตรียมกำลังเพื่อปฏิบัติการรักษาสันติภาพเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งกองกำลังฯ (การฝึก การศึกษา การจัดการส่งกำลังบำรุง) และ (7) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และการประสานงานของฝ่ายทหารและพลเรือนในด้าน PKO

-  ที่ผ่านมา การประชุม EWG ได้หารือแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือและสร้างมาตรฐานในการประชุมเชิงปฏิบัติการด้าน PKO เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศสมาชิกในด้าน PKO รวมทั้งการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเลิศ การพัฒนาความชำนาญทางกฎหมาย การจัดตั้งฐานข้อมูล การพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมด้านการศึกษาเกี่ยวกับ PKO รวมถึงการประเมินประสิทธิภาพของ EWG และการพิจารณากฎเกณฑ์แผนการปฏิบัติงานด้าน PKO โดยศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กองบัญชาการกองทัพไทยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

3. บทบาทของไทยในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

3.1  ไทยเห็นว่า การดำเนินมาตรการป้องกันยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และสนับสนุนความพยายามของสหประชาชาติในการสร้างวัฒนธรรมการป้องกัน (culture of prevention) ให้เกิดขึ้นในบรรดาประเทศสมาชิกดีกว่าการรอให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วจึงหาวิธีแก้ไข และยังเห็นว่า ปฏิบัติการรักษาสันติภาพเป็นเพียงหนึ่งในมาตรการสำคัญในการธำรงรักษา สันติภาพและความมั่นคงของสหประชาชาติ  อย่างไรก็ตาม การใช้ปฏิบัติการรักษาสันติภาพต้องคำนึงถึงข้อจำกัดด้วยว่า สามารถใช้กับสถานการณ์ใดได้บ้าง การจัดส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดความสูญเปล่าของงบประมาณ ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดของลักษณะของปฏิบัติการรักษาสันติภาพและทรัพยากรของสหประชาชาติ ไทยจึงเห็นว่า ในการพิจารณาจัดตั้งปฏิบัติการรักษาสันติภาพ สหประชาชาติควรมี entry & exit strategy ที่ชัดเจน

3.2  ไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพในหลายภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่

            - United Nations Observer Group in Lebanon (UNOGIL) ที่เลบานอน

- United Nations Transition Assistance Group (UNTAG) ที่นามิเบีย

- United Nations Iraq-Kuwait Observation Mission (UNIKOM) บริเวณชายแดนอิรัก-คูเวต

- United Nations Guards Contingent in Iraq (UNGCI) ที่อิรัก

- United Nations Advance Mission in Cambodia (UNAMIC) และ United Nations Transitional Authority in Cambodia (UNTAC) ที่กัมพูชา

- United Nations Observer Mission in South Africa (UNOMSA) ที่แอฟริกาใต้

- United Nations Mission in Bosnia and Herzegovina (UNMIBH)ที่บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

- United Nations Observer Mission in Sierra Leone (UNAMSIL) ที่เซียร์ราลีโอน

- United Nations Fijian Electoral Mission (UNFEOM) ที่ฟิจิ

- ปฏิบัติการรักษาสันติภาพในติมอร์เลสเต รวม 5 ภารกิจ ประกอบด้วย

·         United Nations Mission in East Timor (UNAMET)

·         International Force in East Timor (INTERFET)

·         UN Transitional Administration in East Timor (UNTAET)

·         UN Mission of Support in East Timor (UNMISET)

·         United Nations Integrated Mission in Timor-Leste (UNMIT)

- United Nations Operations in Burundi (ONUB) ที่บุรุนดี

- United Nations Political Mission in Nepal (UNMIN) ที่เนปาล

- United Nations Mission in Sudan (UNMIS) ที่ซูดาน

- United Nations Mission in Liberia (UNMIL) ที่ไลบีเรีย

- United Nations Stabilisation Mission in Haiti (MINUSTAH) ที่เฮติ

- United Nations Military Observer Group in India and Pakistan (UNMOGIP) บริเวณชายแดนอินเดีย-ปากีสถาน

3.3  นอกจากนี้ ในช่วงปี 2554-2555 ไทยได้สนับสนุนทหารราบ 1 กองพัน (812 นาย) เข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพผสมระหว่างสหภาพแอฟริกากับสหประชาชาติในดาร์ฟูร์ (African Union-United Nations Hybrid Operation in Darfur : UNAMID) ตามคำร้องขอของสหประชาชาติ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552

กองกำลังทหารไทยในนาม “กองกำลังเฉพาะกิจ 980 ไทย/ดาร์ฟูร์” เข้าวางกำลังเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งพื้นที่หลักที่ไทยเข้าวางกำลัง คือ เมืองมุกจาร์ อยู่ทางตอนใต้ของเขตดาร์ฟูร์ตะวันตก มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบโล่งแจ้ง สภาพภูมิอากาศมีความคล้ายคลึงกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย การซุ่มโจมตีมีจำกัด เอื้อต่อการตรวจการณ์ของกองกำลังไทย ทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์พอควร เอื้อต่อการดำเนินงานด้านการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชน สถานการณ์ความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าวจัดอยู่ในระดับการเตรียมพร้อมปกติ
กองกำลังเฉพาะกิจ 980 ไทย/ดาร์ฟูร์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจรักษาสันติภาพอย่างแข็งขัน โดยออกลาดตระเวนในพื้นที่ปฏิบัติการและพบปะกับประชาชนเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยและแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและน้ำ นอกจากนี้ ยังได้ปฏิบัติหน้าที่ด้านงานช่าง ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างฐานปฏิบัติการและอาคารที่พัก นอกจากภารกิจด้านยุทธการแล้ว กองกำลังเฉพาะกิจ 980 ไทย/ดาร์ฟูร์ ยังได้ดำเนินงานด้านกิจการพลเรือน อาทิ การจัดชุดแพทย์เดินทางเข้าพบปะกับบุคคลสำคัญในพื้นที่ปฏิบัติการในเมืองมุกจาร์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและตรวจรักษาอาการเจ็บป่วย  การให้บริการน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคของโรงพยาบาลท้องถิ่น การซ่อมแซมและปรับปรุงถนนที่ชำรุดบริเวณใกล้เคียงกับฐานปฏิบัติการเพื่อให้ ประชาชนสามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจร รวมทั้งการทำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกองกำลังเฉพาะกิจ 980 ไทย/ดาร์ฟูร์ ได้มอบผลผลิตจากแปลงสาธิตให้แก่ผู้แทนเมืองมุกจาร์ ซึ่งรับผิดชอบการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมและการพัฒนาที่มาเยี่ยมชมด้วย

3.4  ไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถระดมสรรพกำลังที่ต้องการในการสนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติได้ อย่างรวดเร็วทันการณ์เมื่อได้รับการร้องขอในปี 2541 กองบัญชาการกองทัพไทยจึงได้จัดทำความตกลงกับสหประชาชาติว่าด้วยการจัดระบบกำลังเตรียมพร้อม (UN Stand-by Arrangement System: UNSAS) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่ไทยจะต้องแจ้งความพร้อมของกำลังพลและอาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้ฝ่ายปฏิบัติการสันติภาพของสหประชาชาติทราบทุกๆ 3 เดือนเพื่อสหประชาชาติจะได้พิจารณาขอรับการสนับสนุนด้านกำลังพลในภารกิจ ต่าง ๆ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กองบัญชาการกองทัพไทยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

4. บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ

4.1  ในการเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานติดต่อประสานงานกับสหประชาชาติและดูแลภาพรวมของความร่วมมือระหว่างไทยกับสหประชาชาติในกรอบต่าง ๆ จะหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นผู้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า ปฏิบัติการรักษาสันติภาพครั้งใดที่ไทยควรเข้ามีส่วนร่วม โดยพิจารณาผลกระทบด้านความมั่นคง การเสริมสร้างศักดิ์ศรีและบทบาทของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ และการพัฒนาความรู้และความเชี่ยวชาญของหน่วยงานไทยในบทบาทเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศ  นอกเหนือจากบทบาทในด้านการกำหนดนโยบายในภาพกว้างแล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังทำหน้าที่กระจายข่าวสารข้อมูลและวิเคราะห์พัฒนาการของปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ

4.2  คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นหน่วยงานหลักของไทยที่เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ไทยมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศกำลังพัฒนาภายใต้กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) เพื่อผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรม การปรับอัตราค่าทดแทนกรณีเสียชีวิต/บาดเจ็บให้เป็นมาตรฐานเดียว การเร่งรัดกระบวนการเบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่าย การเรียกร้องให้มีการกระจายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในฝ่ายปฏิบัติการรักษาสันติภาพให้ทั่วถึงตามภูมิภาค และการเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นประเทศสนับสนุนกำลังพลได้มีโอกาสมากขึ้นในการร่วมหารือกับคณะมนตรีความมั่นคงฯ เกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตอาณัติและการประเมินสถานการณ์ในการจัดตั้งภารกิจรักษาสันติภาพ

4.3  กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำยุทธศาสตร์การเข้าร่วมปฏิบัติการเพื่อสันติภาพในกรอบสหประชาชาติ ปี 2553-2557 เพื่อเป็นกรอบนโยบายและทิศทางการเข้าร่วมปฏิบัติการเพื่อสันติภาพอย่างบูรณาการ และเป็นแนวทางการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดยุทธศาสตร์ย่อยและแผนงานในระดับหน่วยงาน รวมทั้งงบประมาณในการดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถและยกระดับบทบาทของไทยในการสนับสนุนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพในกรอบสหประชาชาติและกรอบความร่วมมืออื่น ๆ โดยได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าว

5. กระบวนการตัดสินใจเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

5.1  เมื่อปี 2538 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านการเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ โดยมีอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศเป็นประธานและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณ ร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยมีหน้าที่เสนอแนวนโยบายเกี่ยวกับการเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ  เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานฯ อย่างเป็นทางการ และเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ โดยให้มีผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) และสำนักงานประสานภารกิจทางทหารกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์การเข้าร่วม ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของสหประชาชาติอย่างบูรณาการ และพิจารณาให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งกองกำลังเข้าร่วมปฏิบัติการเพื่อสันติภาพตามที่สหประชาชาติร้องขอ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการต่างประเทศ ความมั่นคง และเศรษฐกิจ

5.2 หลักการพื้นฐานที่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาเข้าร่วม คือ ผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ระดับความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานและความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจกันว่าปฏิบัติการรักษาสันติภาพแต่ละครั้งมีความหลากหลายในรูปแบบและมีพัฒนาการที่รวดเร็ว จึงต้องมีการตัดสินใจที่ฉับไวและทันต่อเหตุการณ์ ดังนั้น การประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงจึงมีความสำคัญมาก

5.3  ในการเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพแต่ละครั้ง หลังจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้เสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในหลักการ โดยรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบและขนาดของกองกำลังที่จะเข้าร่วมนั้น จะมีการหารืออย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

6.  ผลประโยชน์ของไทยจากการเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพ

6.1  เป็นการตอบสนองนโยบายต่างประเทศของไทยในการสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติในการธำรงและรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

6.2  เป็นโอกาสในการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศที่ไทยเข้าร่วมภารกิจและสร้างความนิยมไทย โดยการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรไทยจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระดับบุคคลกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนในพื้นที่ อันจะเอื้อประโยชน์ต่อการขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือในมิติอื่น ๆ ในระยะยาวหลังจากความขัดแย้งยุติลงแล้ว เช่น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและโอกาสด้านการค้าการลงทุน เป็นต้น

6.3  เป็นการช่วยธำรงสันติภาพและเสถียรภาพในประเทศและภูมิภาคนั้น ๆ เพื่อช่วยสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการพัฒนา รวมทั้งช่วยสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศที่ดีต่อความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในระยะยาว

6.4  เป็นโอกาสในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยว่าเป็นสังคมแห่งความรับผิดชอบ เมตตาธรรม มนุษยธรรม และความเอื้ออาทรโดยการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก

6.5  เป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพของกองทัพไทย รวมทั้งเป็นการพัฒนาความรู้/ความเชี่ยวชาญและเสริมสร้างทักษะ/ประสบการณ์ใน เวทีระหว่างประเทศของกำลังพล เป็นเกียรติประวัติ และเป็นการสร้างโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของไทยได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่ง ระดับสูงในฝ่ายปฏิบัติการสันติภาพของสหประชาชาติหรือในองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ

7. หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

7.1  ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยยกระดับจากกองปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ เพื่อเป็นทั้งหน่วยอำนวยการและหน่วยปฏิบัติของกองบัญชาการกองทัพไทย โดยมีความรับผิดชอบหลักในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานรองรับบทบาทของไทยด้านการรักษาสันติภาพร่วมกับสหประชาชาติและมิตรประเทศที่ไทยมีความร่วมมือ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยมีเป้าหมายจะยกระดับเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านสันติภาพระดับภูมิภาค และสนับสนุนความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบอาเซียน

นอกจากนี้ กองบัญชาการกองทัพไทยได้เปิดสำนักงานที่ปรึกษาทางทหารประจำคณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อสนับสนุนบทบาทของไทยในด้านปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของสหประชาชาติอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

7.2  สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการอำนวยการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วม ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพตามความต้องการของสหประชาชาติ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มว่า งานด้านนี้จะมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากความจำเป็นและหน้าที่ด้านการดูแลความสงบเรียบร้อยภายหลังจากความขัดแย้งยุติลง เพื่อฟื้นฟูความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศ และสนับสนุนการปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคงก่อนที่จะถ่ายโอนความรับผิดชอบจากกองกำลังตำรวจสหประชาชาติให้แก่รัฐบาลของประเทศนั้น

---------------------------------

 กรมองค์การระหว่างประเทศ
กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ