การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙ ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙ ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 พ.ย. 2565

| 19,823 view

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙ จบลงแล้ววันนี้ เป็นการปิดฉากการเป็นเจ้าภาพเอเปค ๒๕๖๕ ของไทย ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” อย่างสมบูรณ์ ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเห็นพ้องกับการนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙  อย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม พร้อมรับมือความท้าทายในอนาคต โดยได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. ๒๐๒๒ และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นการวางรากฐานให้เอเปคมีทิศทางการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ

เมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ ท่ามกลางความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคต โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นตัวเร่งการปรับมุมมองและพฤติกรรมไปสู่โมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ร่วมนำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี ๒๕๖๕ และผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคและแขกพิเศษ ได้แก่ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ร่วมหารือกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของภาคเอกชนและคู่ค้าสำคัญนอกภูมิภาคเอเปค

จากการประชุมครั้งนี้ ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม ๒ ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. ๒๐๒๒ และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสะท้อนผลสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพเอเปค ๒๕๖๕ ของไทยที่ขับเคลื่อนให้เอเปคสามารถเดินหน้าทำงานท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายในปัจจุบันและคงความสำคัญในการเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ๓ ข้อตามที่ไทยตั้งเป้า ได้แก่

(๑) การผลักดันให้เอเปคทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกในบริบทหลังโควิด-๑๙ โดยมีแผนงานการขับเคลื่อนการหารือที่ต่อเนื่องระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๒๓-๒๐๒๖ เพื่อให้เอเปคสามารถเดินหน้าได้อย่างชัดเจน

(๒) การฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกปลอดภัย โดยคณะทำงานเฉพาะกิจที่ไทยเป็นประธานได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้เอเปคมีกลไกและแนวทางการรับมือกับ disruption ในอนาคต และ

(๓)  การรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งเป็นเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนฉบับแรกของเอเปค โดยเน้นเป้าหมายหลัก ๔ ข้อ ได้แก่ การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืน และการลดและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน โดยได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.bangkokgoals.apec.org รวบรวมแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อริเริ่มของสมาชิกเอเปคให้เป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้สนใจสืบค้น ศึกษา และประยุกต์ใช้ต่อไป

ในการนี้ ไทยได้ส่งต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี ๒๕๖๖ ให้แก่สหรัฐฯ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบ “ชะลอม” ให้แก่นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งชะลอมเป็นภาพแทนสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย เพื่อส่งต่อให้สหรัฐฯ สานต่อภารกิจในปีหน้า โดยเฉพาะประเด็นความยั่งยืนที่สะท้อนอยู่ในเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ