รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความยินดีต่อการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) เปรียบเสมือน “ชัยชนะของความร่วมมือพหุภาคี”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความยินดีต่อการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) เปรียบเสมือน “ชัยชนะของความร่วมมือพหุภาคี”

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,289 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ความสำเร็จของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ เปรียบเสมือน “ชัยชนะของความร่วมมือพหุภาคี” ในช่วงพิธีเปิดของกิจกรรมออนไลน์เพื่อเฉลิมฉลองการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาฯ ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ ซึ่งไทยเป็น ๑ ใน ๓ ประเทศแรกที่ลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาฯ และไทยเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญา

เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์เพื่อเฉลิมฉลองการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons - TPNW) และตอกย้ำถึงความสำคัญของสนธิสัญญาฯ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ความสำเร็จของสนธิสัญญาฯ เปรียบเสมือน “ชัยชนะของความร่วมมือพหุภาคี” และเน้นย้ำว่า ในวาระแห่งประวัติศาสตร์เช่นนี้ ควรค่าที่ทุกฝ่ายจะได้ระลึกถึงคำมั่นที่รัฐสมาชิกได้ให้ไว้ในกฎบัตรสหประชาติ “ที่จะช่วยคนรุ่นหลังให้พ้นจากภัยพิบัติแห่งสงคราม” และการธำรงอยู่ของอาวุธนิวเคลียร์นั้น “อาจช่วยให้บางประเทศรู้สึกปลอดภัย แต่อาจเป็นมหันตภัยต่อความมั่นคงของส่วนรวม” นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมให้สัตยาบันและภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ ต่อไป เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและความเป็นสากลของสนธิสัญญาฯ

ไทยลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ในวันแรกของการเปิดลงนาม เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๐ สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เริ่มมีผลใช้บังคับในวันนี้ (๒๒ มกราคม ๒๕๖๔) และถือเป็นตราสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมายฉบับแรกของโลก ที่ห้ามและลดความชอบธรรมของอาวุธนิวเคลียร์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงการห้ามพัฒนา ทดลอง ผลิต ครอบครอง สะสม ใช้หรือข่มขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ เมื่อคำนึงถึงความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติของอาวุธนิวเคลียร์ สนธิสัญญาฯ จึงเป็นการยืนยันถึงความปรารถนาของนานาประเทศที่จะบรรลุเป้าหมายในการสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ โดยปัจจุบันสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์มีรัฐผู้ลงนามแล้วจำนวน ๘๖ ประเทศ และรัฐภาคีจำนวน ๕๑ ประเทศ

ไทยในฐานะประเทศที่มีความมุ่งมั่นด้านการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ และหวังว่าสนธิสัญญาฯ ดังกล่าวจะเป็น “บรรทัดฐานใหม่” ที่นำไปสู่การกำจัดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงที่สุดที่มนุษย์เคยคิดค้นขึ้นให้หมดสิ้นไป ในการนี้ ไทยพร้อมที่จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมรัฐภาคีสนธิสัญญาฯ ครั้งแรกที่จะเกิดขึ้นเร็ววันนี้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ