วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ม.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ในปี ๒๕๖๕ ไทยจะรับหน้าที่เจ้าภาพกรอบความร่วมมือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่มีสมาชิกเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลก จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะแสดงบทบาทนำด้านการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อศักยภาพเศรษฐกิจไทยในเวทีระดับโลก
ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการระดมสมองเกี่ยวกับประเด็นที่ไทยจะผลักดันในปี ๒๕๖๕ โดยบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านเอเปค ผู้แทนภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประชาชน กลุ่มมืออาชีพรุ่นใหม่ ซึ่งได้หารือจนตกผลึกเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยควรขับเคลื่อน ๕ หัวข้อ ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการค้าการลงทุนอย่างเสรี (๒) การก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล (๓) สุขภาวะ (well-being) (๔) ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร และ (๕) การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และมีความรับผิดชอบ
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๔ ผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้าร่วมการประชุม APEC Focus Group ครั้งที่ ๒ ทั้งในรูปแบบ online และ offline ที่กระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ โดยมี ดร. อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ
เป็นประธานฯ นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย ผู้มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความใกล้ชิดกับกรอบเอเปคเข้าร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกรอบเอเปค พร้อมด้วยสมาชิก APEC Focus Group ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ร่วมหารือเพื่อต่อยอดผลการหารือครั้งที่ผ่าน ๆ มา เพื่อสรุปหัวข้อหลัก (Theme) ประเด็นสำคัญ (Priorities) และผลลัพธ์สำคัญ (Key Deliverables) ของเอเปคในปี ๒๕๖๕
ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ปี ๒๕๖๕ จะเป็นยุคหลังโควิด-๑๙ ที่มีการใช้วัคซีนกันอย่างแพร่หลายแล้ว เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวกลับมามีพลวัตอีกครั้ง โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็อาจยิ่งก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างเขตเศรษฐกิจและประชาชนที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลกับกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค ปี ๒๕๖๕ ควรกำหนดหัวข้อหลัก (Theme) ที่สั้น กระชับ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและเป็นที่น่าจดจำ สื่อถึง
การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงความหวังของประชาชนเอเปคที่มองไปข้างหน้าสู่อนาคตของภูมิภาคที่ร่วมมือกันสร้างความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม และประเด็นสำคัญที่ไทยจะขับเคลื่อน (Priorities) ก็ควรสะท้อนแนวคิดเดียวกันด้วย
ในขั้นต่อไป กระทรวงการต่างประเทศจะนำผลการระดมสมองในครั้งนี้ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่สะท้อนบริบทโลก สอดคล้องกับพลวัตของเอเปคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และที่สำคัญที่สุดคือการสะท้อนผลประโยชน์ของประชาชนไทย ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการระดับชาติฯ ต่อไป ทั้งนี้ ไทยจะประกาศหัวข้อและประเด็นสำคัญของเอเปคปี ๒๕๖๕ อย่างเป็นทางการเพื่อรับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์ ในห้วงการประชุมสัปดาห์ผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **