วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ต.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในงานรำลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปี สหประชาชาติ ซึ่งไทยมีความภูมิใจในการเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคของหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติ โดยเน้นย้ำการสร้างความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหประชาชาติ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อแผนฟื้นฟูภายหลังโควิด-๑๙ และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประชาคมโลกอย่างเข้มแข็งต่อไป เพื่อช่วยผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ใน ๕ มิติของการพัฒนา (5Ps) ได้แก่ คน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง สันติภาพและความยุติธรรม และการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา
เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในงานรำลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปี สหประชาชาติในเอเชียและแปซิฟิก ณ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ เอสแคป (ESCAP)
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงความสำคัญและความสำเร็จที่ผ่านมาของสหประชาชาติในการส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลกใน ๗๕ ปีที่ผ่านมา โดยปี ๒๕๖๔ จะเป็นปีที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติครบ ๗๕ ปี อย่างไรก็ดี ในปี ๒๕๖๓ เป็นยุคความท้าทายของความร่วมมือพหุภาคี โดยเฉพาะความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืนของประเทศในเอเชียและแปซิฟิก ประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระชับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science, Technology and Innovation – STI) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อแผนฟื้นฟูประเทศภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีนสำหรับการป้องกันโรคโควิด-๑๙ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า การพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและสังคมจะต้องดำเนินไปควบคู่กัน รัฐบาลและภาคเอกชนไทยจึงน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยประเทศไทยได้แบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับหน่วยงานของสหประชาชาติและประเทศต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือใต้-ใต้
ทั้งนี้ ไทยมีความภูมิใจในการเป็นประเทศเจ้าบ้านของเอสแคป และเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคของหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือด้านการพัฒนา โดยเฉพาะเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเน้นย้ำว่า ไทยยึดมั่นในความร่วมมือระดับภูมิภาคและการทำงานร่วมกับสหประชาชาติอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมภารกิจของสหประชาชาติในการสร้างโลกใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม (build back better) และเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมกันสร้างสถาบันพหุภาคีที่สามารถตอบสนองและรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้ตรงสถานการณ์และเป้าประสงค์ (fit for the purpose) เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ อย่างมีความเชื่อมั่นต่อไป รวมทั้งเน้นย้ำว่า การเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันของประชาคมโลกอย่างเข้มแข็งจะช่วยผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ใน ๕ มิติของการพัฒนา (5Ps) ได้แก่ คน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง สันติภาพและความยุติธรรม และการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ต่อไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **