กรณีสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เผยแพร่แถลงข่าวร่วมของผู้เสนอรายงานพิเศษฯ ใน ๓ ด้านของสิทธิเสรีภาพ และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมในประเทศไทย

กรณีสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เผยแพร่แถลงข่าวร่วมของผู้เสนอรายงานพิเศษฯ ใน ๓ ด้านของสิทธิเสรีภาพ และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมในประเทศไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ต.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,057 view

เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (The Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) ได้เผยแพร่แถลงข่าวร่วม (News Release) ของผู้เสนอรายงานพิเศษฯ ใน ๓ ด้านของสิทธิเสรีภาพ และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมในประเทศไทย นั้น

กระทรวงการต่างประเทศขอเรียน ดังนี้

๑. ผู้เสนอรายงานพิเศษเป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระที่มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ในประเทศต่าง ๆ โดยเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้เสนอรายงานพิเศษในประเด็นต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญอิสระ และคณะทำงานต่าง ๆ

๒. ข้อห่วงกังวลที่ปรากฏในแถลงข่าวร่วม อาทิ เรื่องการจับกุม การใช้น้ำฉีดแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุม การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฯลฯ ได้รับการชี้แจงในการบรรยายสรุปต่อคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศแล้ว เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๓ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศบรรยายสรุปและตอบคำถามร่วมกับโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผู้แทนสำนักงาน OHCHR ประจำประเทศไทย ได้เข้าฟังด้วย

๓. ในวันเดียวกันกับที่มีการเผยแพร่แถลงข่าวร่วม (๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓) เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้หารือกับนาง Michelle Bachelet ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ผ่านการสื่อสารทางไกล เกี่ยวกับสถานการณ์ชุมนุมในประเทศไทย และการแถลงข่าวร่วมข้างต้น เพื่อชี้แจงเพิ่มเติม โดยเฉพาะการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓ และได้ย้ำว่า (๑) ไทยยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) (๒) รัฐบาลไทยรับมืออย่างสมดุลระหว่างข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่เป็นพลังเงียบ (silent majority) และ (๓) ที่สำคัญคือกระบวนการทางยุติธรรมและศาลมีความเป็นอิสระ โดยล่าสุดศาลมีคำสั่งยกเลิกคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อปิดสื่อบางแห่งแล้ว

๔. ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๓ มีสำนักข่าวบางแห่ง ได้รายงานข่าวเรื่องท่าทีของกลุ่มผู้เสนอรายงานพิเศษฯ โดยสรุปเนื้อหาคลาดเคลื่อนว่า กลุ่มผู้เสนอรายงานพิเศษฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัว “ทุกคน” โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ข้อเท็จจริง คือ เรียกร้องให้ปล่อยตัว “บุคคลที่ถูกจับกุมเพียงเพราะใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐาน” (ผู้ชุมนุมทั่วไป) ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ