วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
As delivered
คำกล่าว
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
การประชุมระดับสูงเพื่อฉลองครบรอบ ๗๕ ปี สหประชาชาติ (High-level Meeting of the General Assembly to Commemorate the 75th Anniversary of the United Nations)
วันจันทร์ที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๓ ณ General Assembly Hall
สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
****************
ท่านประธาน
๑. ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงเพื่อฉลองครบรอบ ๗๕ ปี สหประชาชาติ ในวันนี้
๒. พวกเราเริ่มต้นปี ๒๕๖๓ ด้วยความหวังว่า จะเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง แต่กลับต้องเผชิญกับโควิด-๑๙ โดยขณะนี้ ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อจริงเพียงร้อยคนเศษ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ของประเทศและความร่วมมือที่ดีจากประชาชน ไม่มีประเทศใดจะปลอดจากเชื้อโควิด-๑๙ ได้ จนกว่าทุกประเทศจะปลอดจากเชื้อดังกล่าวไปด้วยกัน
๓. สหประชาชาติมีบทบาทสำคัญในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลกผ่านปฏิบัติการรักษาสันติภาพในภูมิภาคต่าง ๆ อีกทั้งส่งเสริมการปกป้องสิทธิมนุษยชนผ่านการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ รวมถึงขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันมีวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ เป็นแผนที่นำทาง
๔. ประเทศไทยภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในภารกิจทั้ง ๓ เสาหลักของสหประชาชาติตลอดมา ได้แก่
- ด้านสันติภาพและความมั่นคง ประเทศไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและพลเรือน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่สตรี เข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ
- ด้านการพัฒนา ประเทศไทยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ โดยไทยกำลังขับเคลื่อนความร่วมมือในบริบทของ SEP for SDGs Partnership และยินดีที่จะขยายความร่วมมือ ไปยังประเทศอื่น ๆ ที่สนใจ
- ด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยได้เสนอแนวคิดสร้างสรรค์ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อาทิ การมีบทบาทนำในการยกร่างข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ซึ่งครบรอบ ๑๐ ปี ในปีนี้
๕. นอกจากนั้น ไทยยังยินดีที่หน่วยงานที่สำคัญหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก ได้เลือกไทยให้เป็นที่ตั้ง ในการนี้ ไทยขอยืนยันที่จะทำหน้าที่เจ้าบ้านที่ดี
๖. ที่ผ่านมา โลกของเราเผชิญวิกฤติมามากมาย โดยประวัติศาสตร์ได้สอนเราเสมอว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อประชาคมระหว่างประเทศร่วมมือร่วมใจ และมองไกลกว่าผลประโยชน์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ทวีปใดทวีปหนึ่ง ดังนั้น ประเทศไทยจึงเห็นว่า ประชาคมระหว่างประเทศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายต่างก็มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมสหประชาชาติ รวมทั้งสร้างพันธมิตรสำหรับระบบพหุภาคีใหม่ที่ตอบสนอง ความต้องการของประชาชนทุกคน
๗. สุดท้ายนี้ ผมขอยืนยันความพร้อมของประเทศไทยที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการที่จะทำให้ โลกของเรากลับมาให้ดีกว่าเดิมและมีความยั่งยืน ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
๘. ขอบคุณครับ
**********
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **