วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเสนอที่ประชุมกรอบความมือลุ่มน้ำโขง-คงคา (อินเดีย) (MGC) ครั้งที่ ๑๑ ความร่วมมือในอนาคต ๔ แนวทาง ได้แก่ การจัดทำแผนปฏิบัติการใหม่ที่สะท้อนความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของ MGC ความร่วมมือสาธารณสุข โดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีนโควิด-๑๙ การฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านความเชื่อมโยง ดิจิทัลและการค้า และการส่งเสริมการสอดประสานระหว่าง MGC กับกรอบความร่วมมือ ACMECS และกรอบอื่น ๆ
เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา (อินเดีย) (Mekong - Ganga Cooperation – MGC) ครั้งที่ ๑๑ ผ่านระบบการประชุมออนไลน์
ที่ประชุมฯ ทบทวนพัฒนาความร่วมมือในกรอบ MGC ในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา และได้หารือเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือในอนาคต โดยที่ประชุมให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรับมือกับการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การส่งเสริมความเชื่อมโยง และการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ผ่านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาขีดความสามารถและบทบาทของ MSMEs และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยที่ประชุมได้รับรองถ้อยแถลงร่วมฯ จำนวน ๑ ฉบับ และได้เป็นสักขีพยานการเปิดตัวเว็บไซต์กรอบ MGC (http://mgc.gov.in) และตัวอย่างภาพยนต์สารคดีเกี่ยวกับกรอบ MGC
ในการประชุมดังกล่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอแนวทาง 4Ps ในการขับเคลื่อนกรอบ MGC ในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ให้แก่กรอบ MGC (revitalisation of MGC) ได้แก่
(๑) การจัดทำแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) ฉบับใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และแนวโน้มการพัฒนาของโลกในปัจจุบันที่ภูมิภาค อินโด-แปซิฟิก ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก โดยอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตั้งอยู่ตรงกลาง รวมทั้งเสนอให้กำหนดประเทศผู้ประสานงานหลัก (lead country) ในสาขาความร่วมมือของกรอบ MGC ให้ครบทั้ง ๑๐ สาขา เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
(๒) ความร่วมมือด้านสาธารณสุข (Public Health) โดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีนในฐานะสินค้าสาธารณะของโลก และยารักษาโรคโควิด-๑๙ ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์แผนดั้งเดิม ซึ่งอินเดียมีความเชี่ยวชาญ
(๓) การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ (Post COVID-19 Recovery) ผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยง โดยเฉพาะโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย และการเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเล การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (digital transformation) การส่งเสริมการค้าเสรีและการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน ตลอดจนการผลักดันให้หุ้นส่วนจตุภาคี ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน วิชาการ และประชาชน (quadruple partnership) มีบทบาทในการขับเคลื่อนกรอบ MGC
(๔) การส่งเสริมการสอดประสานระหว่างกรอบ MGC กับความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคอื่น ๆ (Promoting Synergy) โดยเฉพาะระหว่าง MGC กับ ACMECS อาเซียน และ BIMSTEC ซึ่งไทยจะรับตำแหน่งประธานในช่วงปลายปีนี้
อนึ่ง กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๓ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับประเทศลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ถือเป็นกรอบความร่วมมือกับประเทศนอกอนุภูมิภาคกรอบแรกของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **