ไทยร่วมกับประชาคมโลกขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ไทยร่วมกับประชาคมโลกขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,228 view
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๐ โดยฝ่ายไทยยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกับประชาคมโลกเร่งรัดดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งนำเสนอแนวทางการประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะบทบาท อสม. ไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและฟื้นตัวภายหลังวิกฤตโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืน  
 
เมื่อวันที่ ๗-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ คณะผู้แทนไทย นำโดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ซึ่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council: ECOSOC) จัดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อหลัก “Accelerated action and transformative pathways: realizing the decade of action and delivery for sustainable development” 
 
ในการกล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับประชาคมโลกในการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และย้ำถึงประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ได้แก่ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นแนวทางการพัฒนาที่เป็นของตนเองเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน 
 
โดยที่การประชุมในปีนี้จัดขึ้นภายใต้บริบทของสถานการณ์โควิด-๑๙ คณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมฯ หยิบยกประเด็นการประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ทั้งในถ้อยแถลงในการอภิปรายกลุ่มย่อยต่าง ๆ และในกิจกรรมคู่ขนานที่ไทยร่วมกับองค์การอนามัยโลกและ Group of Friends of Universal Health Coverage and Global Health เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยนำเสนอบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙  เน้นกระบวนการพัฒนาและการฟื้นตัวภายหลังจากวิกฤตโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ผู้แทนจากภาคเอกชนของไทยร่วมนำเสนอประเด็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน  ในการส่งเสริมพลังของผู้ประกอบการสตรีและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน 
 
หนึ่งในกิจกรรมพิเศษในช่วงการประชุม HLPF2020 ซึ่งผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทที่เข้มแข็งคือ การประชุม Global Technical Meeting (GTM2020) on “Reimagining Volunteering for the 2030 Agenda” โดยอธิบดีและรองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศร่วมนำเสนอนโยบาย กรณีศึกษา บทเรียนการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ และแนวทางของไทยที่ส่งเสริมงานด้านอาสาสมัครให้มีบทบาทสนับสนุนการเร่งรัดการบรรลุ SDGs อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กลไกการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยกำลังจัดทำรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ระดับชาติโดยสมัครใจ ภายใต้หัวข้อ “Volunteerism for the SDGs” 
 
การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะอาสาสมัคร สตรี และเยาวชน ในกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญในฐานะสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๐ – ๒๐๒๒ 
 
ทั้งนี้ สามารถสืบค้นถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=86zij9aCsdg

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ