รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมในการประชุม High- Level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมในการประชุม High- Level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 มิ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,520 view
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองเลขาธิการสหประชาชาติ/เลขาธิการบริหารเอสแคปเป็นประธานร่วมการประชุม High-Level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development (HLBD) ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เน้นย้ำการพลิกวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การพัฒนาทุนมนุษย์ และการขับเคลื่อนการพัฒนาบนพื้นฐานความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม 
 
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาง Armida Salsiah Alisjahbana รองเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารเอสแคป ได้เป็นประธานร่วมในการประชุม High-Level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development (HLBD) ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อน “ข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ” (Complementarities Initiative) ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วม ได้แก่ ดาโต๊ะ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน และผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซียน หน่วยงานสหประชาชาติ ตลอดจนภาคีภายนอกของอาเซียน อาทิ จีน สหภาพยุโรป นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ธนาคารโลก       ธนาคารพัฒนาเอเชีย มูลนิธิเอเชีย และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์
 
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เน้นย้ำว่า อาเซียนควรพลิกวิกฤติความท้าทายจาก COVID-19 ให้เป็นโอกาสในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) โดยเน้นย้ำประเด็นสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ และการขับเคลื่อนการพัฒนาบนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ อาเซียนควรมีแผนที่ชัดเจนในการเร่งการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs โดยสามารถเริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศต่าง ๆ ในภูมิภาค และมีกระบวนการติดตามประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพ   
 
ในช่วงการหารือ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าและหารือแนวทางการขับเคลื่อน Complementarities Initiative ตามสาขาความร่วมมือที่ระบุใน Complementarities Roadmap (ค.ศ. 2020-2025) ทั้ง 6 สาขา ได้แก่ การขจัดความยากจน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน  การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ อีกทั้งที่ประชุมยังได้เน้นย้ำว่า แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและความร่วมมือภายใต้ Complementarities Initiative จะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจาก COVID-19 ตลอดจนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของภูมิภาคต่อวิกฤติต่าง ๆ ในอนาคตด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ความมั่นคงด้านสุขภาพ การพัฒนาสีเขียว การฟื้นฟูและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนและสาขาต่าง ๆ อย่างครอบคลุมทั้งภายในประเทศและ ระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา
 
การประชุม HLBD จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2560 โดยมีไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และเอสแคป เป็นเจ้าภาพร่วม ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก โดยหนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่เกิดจากการผลักดันของประชุม HLBD ที่สำคัญ ได้แก่ Complementarities Roadmap และ การจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue – ACSDSD) ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทย 
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ