รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-๑๙ (COVID-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือการขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม โดยไทยเน้นย้ำการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ และการดูแลประชาชนในภาวะวิกฤต ด้านสหรัฐฯ ได้ประกาศความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขฉุกเฉินแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นมูลค่ารวม ๓๕.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และข้อริเริ่ม “ASEAN-U.S. Health Futures”รวมทั้งเตรียมยกระดับ CDC ในภูมิภาค
เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 (COVID-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนาย Saleumxay Kommasith รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เป็นประธานการประชุมร่วมกับนาย Michael Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และมีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้งหมด รวมถึงเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมด้วย
ที่ประชุมได้ย้ำถึงเจตนารมณ์ร่วมกันในการขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รวมทั้งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม โดยในที่ประชุม สหรัฐฯ ได้ประกาศความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขฉุกเฉินแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นมูลค่ารวม ๓๕.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงข้อริเริ่มใหม่ที่เรียกว่า “ASEAN-U.S. Health Futures” นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีแผนที่จะยกระดับศูนย์ควบคุมโรค (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังและติดตามโรคติดต่อในอาเซียนในอนาคต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำประเด็นความร่วมมือ ได้แก่ (๑) การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสาธารณสุขฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ อย่างทันท่วงทีและโปร่งใส โดยเสนอให้มีการหารือระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขของทั้งสองฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ และชื่นชมที่ทั้งสองฝ่ายจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุข ในช่วงปลายเดือนเมษายน นี้ (๒) สนับสนุนให้สหรัฐฯ เร่งพัฒนาการวิจัยยาและวัคซีนสำหรับโควิด-๑๙ (๓) เสนอให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในสินค้า ยาและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น และเร่งความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลในอาเซียน โดยเฉพาะ ASEAN Digital Hub ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย (๔) ความร่วมมือในการดูแลประชาชนทั้งสองฝ่ายในภาวะวิกฤต และ (๕) ไทยขอบคุณสหรัฐฯ สำหรับความช่วยเหลือทวิภาคีด้านสาธารณสุขผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development – USAID) และศูนย์ CDC
การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษฯ เป็นการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลครั้งแรกเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน โดยความร่วมมือ ความช่วยเหลือและข้อริเริ่มต่าง ๆ ของสหรัฐฯ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่ออาเซียน ทั้งในการรับมือกับโควิด-๑๙ และการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต