สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก (เขตอาณาครอบคลุมกัวเตมาลา) ให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวไทย เดินทางออกจากกัวเตมาลาหลังจากที่รัฐบาลกัวเตมาลาประกาศปิดพรมแดนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก (เขตอาณาครอบคลุมกัวเตมาลา) ให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวไทย เดินทางออกจากกัวเตมาลาหลังจากที่รัฐบาลกัวเตมาลาประกาศปิดพรมแดนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 เม.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 1,199 view

          เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 20 มี.ค. 2563 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับข้อความทางเฟซบุ๊กจากนางสาวปานใจ ไพบูลย์พงษ์ นักท่องเที่ยวไทยที่ติดค้างอยู่ที่โรงแรม Oasis เมือง Lanquín ประเทศกัวเตมาลาซึ่งประกาศปิดพรมแดนไปแล้วเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยขอให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ให้ความช่วยเหลือนำตนออกจากกัวเตมาลาเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยในโอกาสแรก

           สถานเอกอัครราชทูตฯ เริ่มดำเนินการทันทีในคืนดังกล่าว โดยส่งข้อความสอบถามสถานเอกอัครราชทูตกัวเตมาลาประจำประเทศเม็กซิโกเป็นการภายใน ทราบว่า ยังมีพรมแดน Tecun Uman และ El Carmen ติดกับรัฐเชียปัส ทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก ซึ่งยังเปิดให้ข้ามพรมแดนทางเท้าได้ระหว่างเวลา 09.00 - 21.00 น. โดยเมื่อ น.ส. ปานใจฯ ข้ามชายแดนดังกล่าวได้ ก็จะสามารถเดินทางกลับไทยได้ เนื่องจากเม็กซิโกยังไม่ประกาศปิดน่านฟ้า

           โดยที่ขณะนี้ไทยไม่มีสำนักงานที่กัวเตมาลา ตลอดวันที่ 20 - 21 มี.ค. 2563 สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้ประสานงานกับบุคคลต่าง ๆ ในเครือข่าย อาทิ กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองกวาดาลาฮารา ซึ่งเป็นผู้ที่มีเครือข่ายกว้างขวาง สถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำเม็กซิโก ซึ่งแนะนำให้ติดต่อสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ฟิลิปปินส์ประจำกัวเตมาลา รวมถึงลูกจ้างสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อขอรับข้อมูลติดต่อคนท้องถิ่นในกัวเตมาลาและเสาะหายานพาหนะเคลื่อนย้าย น.ส. ปานใจฯ จากโรงแรมที่พักไปยังชายแดนกัวเตมาลา-เม็กซิโก (ในขณะนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ พิจารณาการส่งเจ้าหน้าที่การทูต พร้อมรถยนต์ เข้าไปรับ น.ส. ปานใจฯ เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ในกรณีนี้ เจ้าหน้าที่การทูตต้องถูกกักกันตัวเพื่อเฝ้าระวัง COVID-19 เป็นเวลา 14 วันตามที่รัฐบาลกัวเตมาลากำหนด ทางเลือกนี้จึงตกไปเนื่องจากเมื่อถูกกักกัน 14 วันแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า จะไม่สามารถนำตัว
น.ส. ปานใจฯ มากรุงเม็กซิโกก่อนที่สายการบินต่าง ๆ จะปิดเที่ยวบิน)

          ในขณะนั้น สถานเอกอัครราชทูตกัวเตมาลาประจำเม็กซิโกแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตฯ เร่งดำเนินการช่วยเหลือคนไทยออกมาโดยเร็วที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐบาลกัวเตมาลาประกาศเคอร์ฟิวโดยระงับการเดินรถภายในตัวเมืองและระหว่างเมืองทั้งหมด ซึ่งเคอร์ฟิวจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่สามารถจัดหายานพาหนะเคลื่อนย้ายได้ทันในวันดังกล่าว

          ต่อมาในวันที่ 22 มี.ค. 2563 ลูกจ้างสถานเอกอัครราชทูตฯ ติดต่อบริษัทรักษาความปลอดภัยในกัวเตมาลาให้จัดรถพร้อมคนขับรถและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธรวม 3 นาย (การเดินทางในกัวเตมาลามีความอันตราย โดยเฉพาะระหว่างชายแดนกัวเตมาลา-เม็กซิโก) ไปรับ น.ส. ปานใจฯ ได้ แต่โดยที่มีการบังคับใช้เคอร์ฟิวแล้ว น.ส. ปานใจฯ จึงต้องไปพักที่กรุงกัวเตมาลา (เมืองหลวง) ก่อนจะออกเดินทางไปยังชายแดนได้อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น (23 มี.ค. 2563) (หมายเหตุ: เมือง Lanquín อยู่ห่างจากเมืองหลวงและชายแดนประมาณ 10 - 11 ชม. ทางรถยนต์) โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ มีหนังสือมอบอำนาจให้บริษัทรักษาความปลอดภัยกัวเตมาลาดำเนินการเคลื่อนย้าย น.ส. ปานใจฯ แทน และแจ้งสถานเอกอัครราชทูตกัวเตมาลาประจำประเทศเม็กซิโกทราบถึงการดำเนินการดังกล่าวด้วย

            น.ส. ปานใจฯ เดินทางถึงชายแดน ข้ามชายแดน และโดยสารเครื่องบินจากรัฐเชียปัสขึ้นมาถึงกรุงเม็กซิโกได้ในช่วงค่ำของวันที่ 23 มี.ค. 2563 โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มอบหน้ากากอนามัย ช่วยเหลือในการหาโรงพยาบาลเพื่อขอใบรับรองแพทย์ Fit to Fly จัดทำหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทย และได้ส่ง
น.ส. ปานใจฯ เดินทางกลับประเทศไทยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 25 มี.ค. 2563

             อนึ่ง ประเทศต่าง ๆ ในเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูตฯ ส่วนใหญ่ รวมถึงกัวเตมาลามีนโยบายเด็ดขาดในการยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาทิ การปิดพรมแดนและน่านฟ้า การระงับการเดินรถขนส่ง และการบังคับใช้เคอร์ฟิว ซึ่งเมื่อประกาศแล้วมักจะมีผลทันทีหรือภายในเวลาอันสั้น ประกอบกับไทยไม่มีสำนักงานในประเทศเขตอาณาอื่นใดของสถานเอกอัครราชทูตฯ นอกจากเม็กซิโก (สถานเอกอัครราชทูตฯ เอง และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองกวาดาลาฮารา) และคิวบา (สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงฮาวานา คิวบา) จึงทำให้การให้ความช่วยเหลือคนไทยในประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวมีข้อจำกัดสูง อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตฯ ในฐานะของ #คนแปลกหน้าที่ดูแลคุณ ยึดมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ได้ยากอย่างเต็มที่ในทุกกรณี เพราะ

#การทูตเพื่อประชาชน #ทุกแห่งหนเราดูแล