สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว จัดโครงการสายสัมพันธ์ดนตรีไทย - จีน เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว จัดโครงการสายสัมพันธ์ดนตรีไทย - จีน เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ธ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 868 view

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 นางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ กงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้กล่าวเปิดกิจกรรมการบรรยายในหัวข้อ “การเชื่อมโยงของดนตรีไทย - จีน” และการสาธิตดนตรีไทยที่วิทยาลัยดนตรีซิงไห่ โดยวงดนตรีกอไผ่

ซึ่งเป็นวงดนตรีไทยร่วมสมัย นำโดยนายอานันท์ นาคคง อาจารย์ประจำวิทยาลัยดุริยางค์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและสมาชิกวง รวม 10 คน โดยมี ศ. หลี่ ฟู่ปิน (Li Fubin) คณบดีคณะดนตรีจีน ศ. หวง เหวยฉี (Huang Weiqi) ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีหลิ่งหนานและดนตรีแต้จิ๋ว และนักศึกษาคณะดนตรีจีน วิทยาลัยดนตรีซิงไห่ (Xinghai Conservatory of Music)เข้าร่วม ประมาณ 100 คน

ในโอกาสดังกล่าว กงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้แจ้งให้ผู้เข้าร่วมงานทราบว่า กิจกรรมสายสัมพันธ์ดนตรีไทย - จีนเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรม และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านดนตรีระหว่างไทยกับมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันมาอย่างยาวนาน และเพื่อกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างความร่วมมือในระดับประชาชน ผ่านดนตรีซึ่งเป็นภาษาสากล อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมณฑลกวางตุ้งให้ใกล้ชิดและยั่งยืน สอดคล้องกับข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" และนโยบายกระชับความร่วมมือระหว่างไทยกับกรอบความร่วมมือระหว่างกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Guangdong - Hong Kong - Macao Geater Bay Area)

ในช่วงการบรรยายหัวข้อ “การเชื่อมโยงของดนตรีไทย - จีน” นายอานันท์ฯ ได้ย้ำถึงประวัติความเชื่อมโยง ด้านวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดระหว่างไทย - จีน ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนมาแต่โบราณผ่านทางชาวจีนโพ้นทะเล และบรรยายสรุปเรื่องความสัมพันธ์ด้านดนตรีระหว่างไทย - จีน ใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) อิทธิพลจีนที่มีต่อวัฒนธรรมดนตรีและการแสดงของไทย โดยกล่าวว่า คนไทยรับเอาวัฒนธรรมเครื่องดนตรีจีนมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องดนตรีไทย โดยเฉพาะเครื่องเคาะจังหวะ (rhythmic percussion) เช่น ฉิ่งมาจาก “เผิงหลิง” กรับพวงมาจาก “กวยป่าน” กลองทัดมาจาก “ต้าถังโก๊ว” เป็นต้น และและเครื่องสาย (string instruments) เช่น ซออู้และซอด้วง มาจาก “หูฉิน”  ขิมมาจาก “หยางฉิน” เป็นต้น (2) การสร้างความหมาย ภาพลักษณ์ มโนทัศน์ “ความเป็นจีน” ในดนตรีไทย โดยกล่าวว่า “ความเป็นจีน” ในดนตรีไทยยังประกอบด้วยเนื้อหาจากจีน เช่น วรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก ที่สอดแทรกในเพลงไหว้ครูหุ่นกระบอกในการแสดงหุ่นเรื่องสามก๊ก เป็นต้น และสำเนียงจีน เช่น การใช้กลุ่มโน้ต pentatonic major และมีจังหวะกระชับเร้าใจ เป็นต้น และ (3) การต่อยอดทางสติปัญญา แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของศิลปินดนตรีไทย โดยกล่าวว่า การเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านดนตรีเป็นที่มาของแรงบันดาลใจในการประพันธ์เพลงไทยสำเนียงจีน เช่น เพลงจีนขิมใหญ่ ซึ่งเคยแสดงให้นายโจว เอินไหล นรม. จีน ในขณะนั้น เมื่อปี 2500 ที่กรุงปักกิ่ง โดยนายบุญยงค์ เกตุคง นักระนาดเอก และเพลงจีนตอกไม้ (เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องโหมโรง) ซึ่งสองเพลงดังกล่าวเป็นผลงานที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน

ภายหลังการบรรยาย วงกอไผ่ได้เชิญอาจารย์และนักศึกษาที่รับฟังบรรยาย ร่วมทดลองเล่นเครื่องดนตรีไทย ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ วงดนตรีกอไผ่ เป็นวงดนตรีไทยที่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๒๔ โดยอาจารย์อานันท์  นาคคง  และเพื่อนนักเรียนต่างสถาบันการศึกษาที่เป็นนักดนตรีสมัครเล่น ซึ่งต่อมา ได้ใช้ชื่อวงดนตรี “กอไผ่”  สร้างสรรค์ผลงานทั้งทางด้านดนตรีไทยร่วมสมัยมาจนถึงปัจจุบัน

------------------------------

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ