ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๓

ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ธ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,555 view
เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ในห้วงการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก สมัยที่ ๒๒ (22nd General Assembly of the State Parties to the World Heritage Convention – WHC GA 22) ณ สำนักงานใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - UNESCO) ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๓ ในกลุ่ม IV (กลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก) โดยได้รับคะแนนเสียง ๑๕๖ เสียง จากจำนวนประเทศที่ลงคะแนนเสียงทั้งหมด ๑๗๐ ประเทศ ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับประเทศอื่นที่ได้รับเลือกตั้งได้แก่ กลุ่ม V (a) (กลุ่มแอฟริกา) แอฟริกาใต้ (๑๓๐ เสียง) ไนจีเรีย (๑๒๘ เสียง) และมาลี ๑๑๘ เสียง กลุ่ม V (b) (กลุ่มอาหรับ) โอมาน (๙๕ เสียง) และในกลุ่มที่นั่งแบบเปิด (open seats) ประเทศที่ได้รับเลือกตั้งได้แก่ อียิปต์ (๑๔๗ เสียง) เอธิโอเปีย (๑๒๕ เสียง) รัสเซีย (๑๑๐ เสียง) ซาอุดีอาระเบีย (๑๐๒ เสียง) ทั้งนี้ ในการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการแต่งตั้งให้นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำ UNESCO เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ 
 
คณะกรรมการมรดกโลก เป็น ๑ ใน ๓ กลไกหลักภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage หรือ UNESCO  Convention 1972 หรือ “อนุสัญญามรดกโลก”) ประกอบด้วยผู้แทนรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ๒๑ ประเทศจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกที่ได้รับเลือกตั้งโดยที่ประชุมสมัชชารัฐภาคี มีหน้าที่หลักในการพิจารณาอนุมัติคำขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ปรับลดสถานะมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนแล้วเป็นให้เป็นแหล่งในภาวะอันตราย และ/หรือ ถอดถอนสถานะมรดกโลกที่เสื่อมโทรมหรือได้รับความเสียหายรุนแรง พิจารณารายงานสถานภาพการอนุรักษ์มรดกโลก และบริหารจัดการเงินกองทุนมรดกโลก (World Heritage Fund) รวมถึงอนุมัติเงินสนับสนุนตามคำขอของรัฐภาคี
 
การที่ไทยได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการมรดกโลกในปีที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และหลังจากที่ไทยเพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารยูเนสโกเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องของนานาประเทศต่อบทบาทที่แข็งขันของไทยในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศด้านการปกป้องคุ้มครองแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ส่งเสริมความสัมพันธ์ ความร่วมมือและความช่วยเหลือในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ร่วมกับกรรมการมรดกโลก รัฐภาคี ศูนย์มรดกโลก (ฝ่ายเลขานุการของอนุสัญญาฯ) และองค์กรที่ปรึกษาภายใต้อนุสัญญาฯ รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีที่ไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม เสนอแนะนโยบาย มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการดำเนินการตามอนุสัญญามรดกโลก 
 
ก่อนการได้รับเลือกตั้งในครั้งนี้ ไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกมาแล้ว ๓ ครั้ง ได้แก่ วาระปี ค.ศ. ๑๙๘๙-๑๙๙๕  วาระปี ค.ศ. ๑๙๙๗-๒๐๐๓  และวาระปี ค.ศ. ๒๐๐๙-๒๐๑๓ อีกทั้งเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ ๑๘ เมื่อปี ๒๕๓๗ ที่จังหวัดภูเก็ต 
 
อนุสัญญามรดกโลกได้รับการรับรองในที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ ๑๗ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ (ค.ศ. ๑๙๗๒) มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และสงวนรักษาความโดดเด่นทางธรรมชาติและวัฒนธรรมทั่วโลก เพื่อสืบทอดแก่ชนรุ่นหลัง ปัจจุบันมีรัฐภาคี ๑๙๓ ประเทศ โดยไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๐ และปัจจุบันไทยมีแหล่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ๕ แหล่ง ได้แก่ (๑) เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (๒) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (๓) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง (๔) แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และ (๕) พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่