คำกล่าวแสดงความยินดี
ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในการประชุม ASEAN-ROK CEO Summit 2019
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
ณ BEXCO นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
* * * * *
President Moon Jae-In,
Fellow ASEAN Leaders,
Excellencies,
Business Leaders, Ladies and Gentlemen,
๑. It is an honour for me to join you, Mr. President, and business leaders from throughout the region and the world for the ASEAN-ROK CEO Summit, which is being organised alongside the 3rd ASEAN-ROK Commemorative Summit. The CEO Summit is a great opportunity for the government and private sectors to interact and share their vision and innovation on how to enhance business links between ASEAN and the ROK. Now allow me to continue my remarks in Thai.
๒. ในฐานะประธานอาเซียน ประเทศไทยมีภารกิจสำคัญ โดยร่วมมือกับประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาในการหลอมรวมความร่วมมือของสมาชิกทั้ง ๑๐ ประเทศ และคู่เจรจา ซึ่งมีสาธารณรัฐเกาหลีเป็นหนึ่งในคู่เจรจาที่สำคัญ ผ่านแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและมองสู่อนาคต ภายใต้แนวคิดหลักนี้ ไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงอาเซียนกับโลกอย่างไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN Connected to the World) การส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ โดยเฉพาะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลอาเซียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Digital and Green ASEAN)
๓. สำหรับการดำเนินงานเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้านั้น เป็นสิ่งที่อาเซียนไม่เคยมองข้าม และให้ความสำคัญมาโดยตลอด เช่น การเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่อาเซียนได้ร่วมกันผลักดันให้สำเร็จในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ โดยเมื่ออาเซียนสามารถเชื่อมโยงครบ ๑๐ ประเทศได้ตามเป้าหมายแล้ว ยังอาจขยายความเชื่อมโยงไปยังประเทศคู่เจรจาได้ในอนาคต ซึ่งคาดว่า จะสามารถช่วยลดความซ้ำซ้อน ลดเวลา และลดต้นทุนให้กับภาคเอกชน รวมทั้งยกระดับความโปร่งใสในกระบวนการค้าระหว่างประเทศของอาเซียนด้วย นอกจากนี้ เรายังยินดีให้การสนับสนุนแนวคิดของภาคเอกชนในการสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าดิจิทัล โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พร้อมสำหรับก้าวต่อไปในการสร้างความเชื่อมโยงข้อมูลด้านการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศอย่างมีมาตรฐานทางดิจิทัลเดียวกันของทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชนของอาเซียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในอนาคต นอกจากนั้น เรายังมุ่งมั่นดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคผ่านการลดอุปสรรคทางการค้า โดยส่งเสริมให้สมาชิกอาเซียนดำเนินการตาม “แนวปฏิบัติสำหรับการดำเนินการตามพันธกรณีอาเซียนว่าด้วยมาตรการที่มิใช่ภาษีของสินค้า” อันจะเป็นการสร้างความโปร่งใสในการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศสมาชิกอาเซียน และป้องกันมิให้มาตรการที่มิใช่ภาษีกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกัน
๔. อีกเรื่องที่ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างมากในการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ คือ การบรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เจรจากันมายาวนานกว่า ๗ ปี การสรุปการเจรจาทั้งหมดได้ภายในปีนี้สำหรับ ๑๕ ประเทศที่เข้าร่วม RCEP และการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การลงนาม ในความตกลง RCEP ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมห่วงโซ่ในระดับภูมิภาคให้กว้างและลึกยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ภาคธุรกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป
๕. ผมเห็นว่า การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคต้องอาศัยเสียงสะท้อนและการสนับสนุนจากภาคเอกชน เนื่องจากภาคเอกชนเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงควรมีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชนตามที่ระบุในแผนปฏิบัติการเพื่อนำถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ร่วมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีเพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นหุ้นส่วนมาปฏิบัติ ทั้งนี้ ภาคเอกชนของอาเซียนวางเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพในหลายๆ ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
๖. ประการที่หนึ่ง การพัฒนาแรงงานทักษะฝีมือ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย แนวโน้มการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนกำลังคน อาจส่งผลให้อาเซียนเผชิญกับปัญหาการว่างงานในอนาคต จำเป็นต้องมีโครงการรองรับและส่งเสริมการเติบโตและพัฒนา MSMEs อย่างต่อเนื่อง ดังเช่น การช่วยเหลือ MSMEs ผ่านทางโครงการพี่ช่วยน้อง (MSMEs Development) และผ่านโครงการที่ผลักดันโดยภาคเอกชน เช่น โครงการ AHEAD (ASEAN Human Empowerment and Development) โครงการ AMEN (ASEAN Mentorship for Entrepreneurs Network) และโครงการ Big Brother เป็นต้น
๗. ประการที่สอง การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัล โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) และการสร้างความเชื่อมโยงทางดิจิทัลระหว่างกันในอาเซียน (Digital Connectivity)
๘. ประการที่สาม ความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยการพัฒนาสาระบันเทิงเชิงสร้างสรรค์ (Creative contents) และการส่งเสริมโปรแกรมการเรียนรู้เชิงบันเทิง (Edutainment) ร่วมกันของสมาชิกอาเซียน
๙. ประการที่สี่ การส่งเสริมกลไกความร่วมมือด้านการค้า โดยเฉพาะความร่วมมือภาคเอกชน ซึ่งมีสภาธุรกิจอาเซียน-เกาหลี (ASEAN-ROK Business Council) เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลโอกาส ปัญหา และอุปสรรค ตลอดจนความร่วมมือในการพัฒนา SMEs ในภูมิภาคระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งผมได้ย้ำถึงเรื่องนี้ตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่สอง เมื่อห้าปีที่แล้ว
๑๐. นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-เกาหลี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ที่สาธารณรัฐเกาหลีมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่อาเซียนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ การปรับลด NTBs/NTMs เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
๑๑. โดยสรุป ผมขอเรียนว่า การประชุม ASEAN-ROK CEO Summit 2019 ในครั้งนี้ เป็นอีกเวทีสำคัญในการสร้างความร่วมมือและความรุ่งเรืองระหว่างกัน โดยคาดหวังว่า ผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้จะได้รับประโยชน์ทั้งทางด้านข้อมูล องค์ความรู้ มุมมองและประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะข้อคิดเห็นเชิงนโยบายจากผู้นำประเทศและผู้นำองค์กร ผมเชื่อมั่นว่าการจัดงาน ASEAN-ROK CEO Summit 2019 จะประสบผลสำเร็จ และนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ และประโยชน์ทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของภูมิภาคต่อไป
๑๒. คัม-ซา-ฮัม-นี-ดา ขอบคุณครับ
* * * * *