ถ้อยแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงเปิดการประชุมเต็มคณะการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

ถ้อยแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงเปิดการประชุมเต็มคณะการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ธ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,276 view

ถ้อยแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในช่วงเปิดการประชุมเต็มคณะ
การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

* * * * *

 

ประธานาธิบดีมุน แช-อิน

ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ฯพณฯ ทั้งหลาย

๑. อัน-ยอง-ฮา-ชิม-นี-กา
 

๒. ในโอกาสการครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ในปีนี้ ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กลับมานครปูซาน และเป็นเกียรติที่ได้เป็นประธานร่วมกับท่านประธานาธิบดีมุนฯ ในการประชุมวันนี้ อาเซียนหวังที่จะส่งเสริมให้มิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
 

๓. เมื่อห้าปีที่แล้ว ผมได้มาเยือนนครปูซานเป็นครั้งแรก ในฐานะนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๒ ในปีนี้ ผมได้กลับมาอีกครั้งที่นครปูซาน ผมชื่นชมนครปูซานในฐานะที่เป็นเมืองซึ่งสะท้อนความสำเร็จของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนของสาธารณรัฐเกาหลี ผมยินดีที่ได้พบกับประธานาธิบดีมุนฯ อีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ ๓ ในรอบสองเดือนกว่าที่ผ่านมา
 

๔. หลัก “๓พี” ซึ่งเน้น ประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ (People, Prosperity, Peace) ภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) ของประธานาธิบดีมุนฯ นั้น สอดคล้องกับสามเสาหลัก ของอาเซียน และวิสัยทัศน์ของอาเซียน โดยเฉพาะในปีนี้ ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งก็เน้นการส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

๕. อาเซียนชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของสาธารณรัฐเกาหลีในการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และยินดีที่สาธารณรัฐเกาหลีส่งเสริมแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”  โดยมองว่า ประสบการณ์ของสาธารณรัฐเกาหลีในด้านการเจริญเติบโตสีเขียวที่ครอบคลุมทุกฝ่าย (inclusive) จะเป็นประโยชน์สำหรับอาเซียนในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

๖. ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีมีความคืบหน้าในทุกด้าน ปัจจุบันนั้น สาธารณรัฐเกาหลีเป็นคู่ค้าและแหล่งการลงทุนอันดับที่ ๕ ของอาเซียน และมีความร่วมมือกันในหลากหลายสาขา อาทิ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และด้านพลังงาน นอกจากนี้ ผมยินดีที่ประเทศสมาชิกความตกลงอาร์เซ็ป (RCEP) ๑๕ ประเทศได้สรุปผลการเจรจาฯ ทุกข้อบทสำหรับความตกลง และจะทำงานร่วมกันเพื่อสรุปผลประเด็นสำคัญในส่วนที่เหลือ เพื่อจะลงนามความตกลงฯ ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐

๗. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้ จำเป็นต้องมีพื้นฐานของสันติภาพและเสถียรภาพ อาเซียนจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลีซึ่งปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และในบริบทนี้ อาเซียนยินดีต่อความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีมุนฯ เพื่อนำไปสู่สันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน อาเซียนพร้อมจะใช้เวทีต่าง ๆ ที่อาเซียนเป็นผู้ขับเคลื่อนในการอำนวยความสะดวกให้กับสาธารณรัฐเกาหลีและฝ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างเหมาะสมต่อไป

๘. อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลียังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนอย่างเห็นได้ชัด และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันด้านวัฒนธรรม ดังเช่นที่อาหารอาเซียนมวยไทย และเซปักตะกร้อ เป็นที่รู้จักในสาธารณรัฐเกาหลี ส่วนกลุ่มศิลปินชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นวง BLACKPINK หรือวง BTS หรือภาพยนต์และซีรีส์ละครเกาหลี อาทิ แท-ยัง-เอ-ฮู-เย หรือ Descendants of the Sun ซึ่งผมชื่นชอบ ล้วนเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในไทยและภูมิภาคอาเซียน

๙. ผมเชื่อมั่นว่า การประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษ ในวันนี้ จะประสบผลสำเร็จในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างทั้งสองฝ่ายให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นต่อไป

๑๐. คัม-ซา-ฮัม-นี-ดา

 

* * * * *