ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานร่วมในช่วงเปิดการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-ROK Summit) ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานร่วมในช่วงเปิดการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-ROK Summit) ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ธ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,111 view
ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานร่วม
ในช่วงเปิดการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-ROK Summit) ครั้งที่ ๑ 
วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
 
******************
 
• ฯพณฯ นายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
 
• ฯพณฯ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 
• ฯพณฯ ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
 
• ฯพณฯ นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
 
• ฯพณฯ นายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
 
• ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
 
สวัสดีครับ
 
• ผมขอร่วมต้อนรับท่านผู้นำและท่านผู้มีเกียรติทุกท่านสู่การประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๑ ในวันนี้ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานร่วมกับท่านประธานาธิบดีมุน
 
• การประชุมนี้นับเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์สำหรับกรอบความร่วมมือของเรา โดยการยกระดับความร่วมมือสู่ระดับสูงสุด แสดงถึงการให้ความสำคัญของสาธารณรัฐเกาหลีต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของท่านประธานาธิบดีมุน 
 
• ในวาระที่ไทยเป็นประธานร่วมของกรอบความร่วมมือฯ ไทยได้ร่วมเป็นเจ้าภาพกับสาธารณรัฐเกาหลีจัดการประชุมต่าง ๆ ที่กรุงเทพฯ ได้แก่ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และการประชุมภาคธุรกิจ Mekong-ROK Business Forum เพื่อปูทางสู่การประชุมผู้นำในวันนี้
 
• สำหรับการประชุมในวันนี้ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้ร่วมกันทบทวนความคืบหน้าของการดำเนินความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ภายใต้ปฏิญญาแม่น้ำฮันเพื่อสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ค.ศ. ๒๐๑๑ และแผนปฏิบัติการของกรอบความร่วมมือฯ รวมทั้งร่วมกันหารือแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือในอนาคต โดยการปรับสาขาความร่วมมือให้สอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งกำหนด 3 P ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาที่เน้นประชาชน ความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ เพื่อตอบสนองกับสถานการณ์ของโลกยุคปัจจุบัน
 
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
 
• กรอบความร่วมมือของเรามีความเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญคือ การเดินหน้าและปรับตัวเข้าหากัน โดยเมื่อปี ๒๕๖๑ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้รับรอง “แผนปฏิบัติการ” ฉบับแรก ภายใต้ “แผนแม่บท ACMECS” ซึ่งเน้นเรื่องความเชื่อมโยง ในปีนี้ สาธารณรัฐเกาหลีได้เข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากลุ่มแรกเรียบร้อยแล้ว สาธารณรัฐเกาหลียังได้ประกาศนโยบาย “New Southern Policy” หรือนโยบายมุ่งใต้ใหม่ที่เน้นเจตนารมณ์ในการเชื่อมโยงกับประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม ACMECS ผมจึงมองเห็นว่า แผนแม่บท ACMECS และนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของประธานาธิบดีมุนเป็นนโยบายและเครื่องมือที่สะท้อนให้เห็นการปรับตัวเข้าหากันและในกระบวนการปรับตัวเข้าหากันนั้น ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลี และเป็นประเทศที่ตั้งของสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะผลักดันกรอบความร่วมมือของเราอย่างไร้รอยต่อยิ่งขึ้น
 
• กรอบความร่วมมือของเรานับเป็นกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงที่มีพลวัตมากที่สุดกรอบหนึ่ง มีกลไกการดำเนินความร่วมมือที่เป็นระบบ โดยมีองค์ประกอบสำคัญของกรอบความร่วมมือฯ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) แผนปฏิบัติการที่มีการปรับปรุงทุก ๕ ปี (๒) เงินทุนผ่านกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี และ (๓) องค์กรขับเคลื่อนการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือฯ ได้แก่ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงซึ่งครอบคลุมหลากหลายสาขา เรามีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม และสอดรับกับความท้าทายของโลกยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ กรอบความร่วมมือของเรายังให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาค ในนามของรัฐบาลไทย ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลของท่านประธานาธิบดีมุนในการให้ความร่วมมือไตรภาคีในลักษณะหุ้นส่วนเพื่อประเทศที่สาม และหวังว่าเราจะดำเนินโครงการในลักษณะดังกล่าวเพื่ออนุภูมิภาคต่อไป
 
• การประชุมในวันนี้ นอกจากจะสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ เพราะเป็นการยกระดับการประชุมขึ้นสู่ระดับผู้นำเป็นครั้งแรกก่อนที่เราจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สองของความร่วมมือในอีก ๒ ปีข้างหน้า  ยังมีความสำคัญในเชิงสารัตถะ เพราะนอกจากจะเป็นการต่อยอดความสำเร็จของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ ครั้งที่ ๓ ในห้วง ๒ วันที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นการสร้างฐานความร่วมมือในเชิงลึก และตรงเป้าหมายระหว่างลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลีอีกด้วย
 
• ผมขอขอบคุณฝ่ายเกาหลีที่ได้ยกร่างปฏิญญาแม่น้ำโขง-แม่น้ำฮัน เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของ การประชุมที่จะมีการรับรองในวันนี้ และขอบคุณเจ้าหน้าที่อาวุโสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิกที่ได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิดในการยกร่างเอกสารดังกล่าวเพื่อช่วยกำหนดแนวทางการดำเนินความร่วมมือของเราในระยะต่อไป ผมเชื่อมั่นว่าการประชุมในวันนี้จะประสบผลสำเร็จ และเราจะนำวิสัยทัศน์และข้อเสนอแนะจากท่านผู้นำทั้งหลายไปขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการของกรอบความร่วมมือฯ ให้เป็นรูปธรรมและตอบสนองความต้องการของประชาชนในอนุภูมิภาคของเราอย่างแท้จริง
 
• ขอบคุณครับ