ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งซ้ำให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization – IMO) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๐-๒๐๒๑ เป็นสมัยที่ ๘

ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งซ้ำให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization – IMO) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๐-๒๐๒๑ เป็นสมัยที่ ๘

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,742 view

เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ที่ประชุมสมัชชา สมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๑ ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ได้เลือกตั้งคณะมนตรี IMO วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๐ – ๒๐๒๑ ที่สำนักงานใหญ่ IMO ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งประเทศไทยได้รับเลือกตั้งจากสมาชิก IMO ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี IMO กลุ่ม C ด้วยคะแนนเสียง ๑๒๗ เสียง (สูงเป็นอันดับที่ ๑๖ ของประเทศที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด ๒๐ ประเทศ) จากรัฐสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมด ๑๖๕ ประเทศ ส่งผลให้ไทยได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี IMO ต่อเนื่องเป็นวาระที่ ๘ ซึ่งไทยดำรงตำแหน่งนี้ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ (ปี ค.ศ. ๒๐๐๖) สะท้อนความไว้วางใจที่รัฐสมาชิก IMO ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของไทยในเวทีระหว่างประเทศในด้านกิจการทางทะเล

ในการเลือกตั้งคณะมนตรี IMO ครั้งนี้ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวย้ำกับที่ประชุมฯ ถึงความมุ่งมั่นของไทยในด้านกิจการทางทะเลและการส่งเสริมผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันของรัฐสมาชิก โดยไทยจะสานต่อบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์ในกรอบ IMO ทั้งการรณรงค์เรื่องการกำจัดขยะในทะเล การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN Sustainable Development Goals: UN SDGs) ที่เกี่ยวกับประเด็นทางทะเล รวมทั้งการส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันในอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือในห่วงโซ่การผลิตของโลก ด้วยเจตนารมณ์หลักที่มุ่งหมายให้การเชื่อมโยงทางทะเลเป็นไปด้วยความมั่นคงปลอดภัย สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์ผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง และเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของอนุชนรุ่นต่อไปในอนาคต ตลอดจนการเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือระหว่าง IMO กับกลไกและกรอบภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะอาเซียน และคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือเอสแคป (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และบทเรียนที่เป็นเลิศกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามพันธกรณีของ IMO ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนโดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

IMO เป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๒ ปัจจุบันมีสมาชิก ๑๗๔ ประเทศ มีหน้าที่เป็นองค์กรกลางเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ในการกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ คนประจำเรือ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก สำนักงานใหญ่ IMO ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร 

คณะมนตรี IMO เป็นองค์กรระดับบริหาร มีหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามงานของ IMO ประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่ได้การเลือกตั้งจากสมัชชา IMO จำนวน ๔๐ ที่นั่ง ดำรงตำแหน่งวาระละ ๒ ปี โดยแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ (๑) กลุ่ม A ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในการให้บริการด้านการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ จำนวน ๑๐ ประเทศ (๒) กลุ่ม B ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในด้านการค้าทางทะเลระหว่างประเทศ จำนวน ๑๐ ประเทศ และ (๓) กลุ่ม C ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษในด้านการขนส่งทางทะเลหรือการเดินเรือ และเป็นตัวแทนจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก จำนวน ๒๐ ประเทศ

นอกจากไทย รัฐสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี ในกลุ่ม C ได้แก่ สิงคโปร์ มอลตา มาเลเซีย ไซปรัส อินโดนีเซีย บาฮามาส แอฟริกาใต้ เม็กซิโก ชิลี เบลเยียม อิยิปต์ เปรู โมร็อกโก เดนมาร์ก ตุรกี จาไมกา ฟิลิปปินส์ คูเวต และเคนยา