สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ได้จัดกิจกรรมบรรยายแก่คณาจารย์และนักศึกษาคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว และนักศึกษาข้าราชการไทยรุ่นที่ ๑๕ รวมจำนวน ๖๐ คน

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ได้จัดกิจกรรมบรรยายแก่คณาจารย์และนักศึกษาคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว และนักศึกษาข้าราชการไทยรุ่นที่ ๑๕ รวมจำนวน ๖๐ คน

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 498 view

               เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ได้จัดกิจกรรมบรรยายแก่คณาจารย์และนักศึกษาคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว และนักศึกษาข้าราชการไทยรุ่นที่ ๑๕ รวมจำนวน ๖๐ คน ณ ที่ทำการสถานกงสุลใหญ่ฯ โดยนางสาวกานติมน รักษาเกียรติ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ได้บรรยายในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน” ใน ๕ ประเด็นหลัก ได้แก่ ๑) ภาพรวมของ สกญ. ณ เมืองเซี่ยเหมิน ๒) ภาพรวมเกี่ยวกับประเทศไทย ๓) ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ๔) ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-จีน และ ๕) บทสรุปความสัมพันธ์ไทย-จีน

             นางสาวกานติมนฯ กล่าวถึงบทบาทและภารกิจหลักของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมินในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาไทย ชาวจีนโพ้นทะเลในไทยที่ยังไปมาหาสู่และทำธุรกิจที่มณฑลฝูเจี้ยน และชาวไทยโพ้นทะเลในเมืองเซี่ยเหมิน จากนั้น กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ๓ ประการของไทยในปี ๒๕๖๒ ได้แก่ การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ และการเป็นประธานอาเซียนของไทยซึ่งไทยในฐานะประธานอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเชื่อมโยง MPAC ๒๐๒๕ และ BRI โดยยกตัวอย่างความร่วมมือในโครงการรถไฟไทย-จีนซึ่งเป็นตัวอย่างความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงที่สำคัญ นอกจากนี้ นางสาวกานติมนฯ ได้กล่าวถึงบทบาทสนับสนุนอันสำคัญอย่างยิ่งของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยต่อการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ความสัมพันธ์ไทยและจีน และเป็นที่เคารพรักของชาวจีนและรัฐบาลจีนด้วย

           ในโอกาสดังกล่าว สถานกงสุลใหญ่ฯ และข้าราชการไทยรุ่นที่ ๑๕ ได้ร่วมกันตอบคำถามของคณาจารย์และนักศึกษาจีนที่สนใจสอบถามเกี่ยวกับประเทศไทยและการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของไทย เช่น สาขาวิชาและมหาวิทยาลัยในไทยที่เป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาชาวจีน จุดยืนของไทยต่อนโยบาย BRI ความเห็นของไทยต่อข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และความเห็นของไทยต่อการพัฒนาเทคโนโลยี ๕G ของหัวเหว่ย เป็นต้น

            อนึ่ง การจัดกิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยและนักศึกษาจีนที่อยู่สถาบันเดียวกันได้ทำความรู้จักกัน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยและจีนต่อไป

           

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ