งานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

งานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 690 view

งานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

(Special Lunch on Sustainable Development)

 

          เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาและกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในฐานะแขกของประธาน เข้าร่วม เพื่อหารือแนวทางขยายความร่วมมือ   ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก โดยงานเลี้ยงในวาระพิเศษดังกล่าว จัดขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

          ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อผู้เข้าร่วมในงานเลี้ยงอาหารกลางวันว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและสร้างเสริมสังคมให้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  ในการนี้ อาเซียนได้ใช้ประโยชน์จากความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ และเชิญชวนภาคีภายนอกร่วมมือกับอาเซียนผ่านศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue)

          กรรมการผู้จัดการ IMF กล่าวว่า ประโยชน์ของการเสริมสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การทำให้เกิดความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งทั้งภายในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกก็เป็นประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ IMF ชื่นชมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการลดความยากจน อย่างไรก็ดี IMF เห็นว่า ภูมิภาคนี้ยังต้องเพิ่มการลงทุนอย่างมากในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน

          ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของแต่ละประเทศในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ และการปฏิบัติตามความตกลงปารีส นอกจากนี้ ผู้นำยัง เห็นพ้องกันว่า ควรให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และควรมีการสร้างเสริมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้กระบวนการพัฒนามีความครอบคลุมยิ่งขึ้น           

          ในการพบปะระหว่างผู้นำอาเซียน (ASEAN Leaders’ Gathering - ALG) ที่บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซียเมื่อเดือนตุลาคม 2561 ผู้นำอาเซียน เลขาธิการสหประชาชาติ กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และประธานธนาคารโลก ต่างได้ให้การรับรองการดำเนินการของอาเซียนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้มีการระบุความร่วมมือดังกล่าวไว้ในวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 เมื่อมิถุนายน 2562 ที่กรุงเทพฯ ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

.......................................................